แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ปีละ 30 วัน โดยถือตามปีปฏิทิน พนักงานสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีไม่ได้ และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้จัดให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างได้หยุดในวันหยุดพักผ่อนประจำปีของแต่ละปีที่โจทก์ทำงานกับจำเลย แสดงว่าจำเลยมิได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 30 ที่กำหนดให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างต้องกำหนดให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างได้หยุดพักผ่อนประจำปีในแต่ละปีที่ทำงานหรือต้องตกลงกับโจทก์เพื่อกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์มิได้หยุดพักผ่อนประจำปีตามสิทธิ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ตามมาตรา 64
สิทธิเรียกร้องค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (9)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมและเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนับจากวันฟ้องเป็นต้นไป และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สำหรับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชยนับจากวันที่ 27 พฤศจิกายน 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การกับแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 21,700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชยเป็นเงิน 2,060,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 370,800 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 599,109.79 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สำหรับค่าชดเชยและค้าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2544 และในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 20 ธันวาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย (ที่ถูกยกฟ้องแย้งด้วย)
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยว่า จำเลยจะต้องจ่ายค่าตอบแทนสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของปี 2541 ถึงปี 2544 ให้แก่โจทก์หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าสิทธิเรียกร้องค่าตอบแทนสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของปี 2541 ยังไม่ขาดอายุความและโจทก์มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนของปีดังกล่าวด้วย ส่วนจำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของปี 2542 ถึงปี 2544 ตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีปีละ 30 วัน โดยถือตามปีปฏิทิน พนักงานสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีไม่ได้ และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้จัดให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างได้หยุดในวันหยุดพักผ่อนประจำปีของแต่ละปีที่โจทก์ทำงานกับจำเลย ย่อมแสดงว่า จำเลยมิได้ปฏิบัติตามบทกฎหมายข้างต้นที่ให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างต้องกำหนดให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างได้หยุดพักผ่อนประจำปีในแต่ละปีที่ทำงานหรือต้องตกลงกับโจทก์เพื่อกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์มิได้หยุดพักผ่อนประจำปีตามสิทธิ จำเลยจึงต้องรับผิดจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 64
สิทธิเรียกร้องค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (9) ซึ่งสิทธิเรียกร้องของปี 2541 นั้น โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2544 สิทธิเรียกร้องของปี 2541 จึงขาดอายุความ ส่วนสิทธิเรียกร้องของปี 2542 และปี 2543 นับถึงวันฟ้องแล้วยังไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน.