คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4563/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแล้ว จำเลยได้พูดผ่านเครื่องกระจายเสียงว่า โจทก์เป็นคนขี้โกงเอาที่สาธารณประโยชน์เป็นของตนเอง เพื่อให้ประชาชนต่อต้านการกระทำที่จำเลยเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะการที่โจทก์เสนอตัวต่อประชาชนให้เลือกตน เป็นการแสดงว่าตนเป็นคนดีมีความซื่อสัตย์สุจริต ไว้วางใจให้เข้าไปมีส่วนร่วมบริหารกิจการแทนประชาชนได้ และการเรียกร้องเอาที่สาธารณประโยชน์คืนก็เพื่อประโยชน์ของประชาชนและจำเลยเองด้วย จำเลยจึงมีความชอบธรรมที่จะเปิดเผยให้ประชาชนทราบเพื่อป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตลอดจนแสดงความคิดเห็นติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งการกระทำดังกล่าวอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ แม้ขณะจำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าว โจทก์ยังไม่ถูกดำเนินคดีอาญา หากจำเลยเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจ มิได้มีเจตนากลั่นแกล้งใส่ร้ายโจทก์และมีมูลอันควรเชื่อ ก็เป็นการกระทำโดยสุจริตแล้ว จำเลยไม่มีความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 5 เมษายน 2539 ถึงวันที่ 29เมษายน 2539 เวลากลางวัน ในระหว่างหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแก้งสนามนาง ซึ่งโจทก์และนายสุเทพกิ้มทอง น้องเขยจำเลยที่ 1 ได้สมัครรับเลือกตั้ง จำเลยทั้งสามกับพวกซึ่งสนับสนุนหาเสียงให้นายสุเทพ และเกลียดชังโจทก์ได้ผลัดเปลี่ยนกันประกาศโฆษณาใส่ความโจทก์ทางเครื่องกระจายเสียงต่อหน้าประชาชนว่า “นายสุทัศน์ พลแสน เป็นคนขี้โกง เขาโกงเอาแม้กระทั่งที่สาธารณประโยชน์ของหมู่บ้านเอาไปเป็นของตนเองอย่างหน้าด้าน ๆหากพี่น้องเลือกเขาเข้าไปในสภาจะทำให้ประชาชนเดือดร้อนยิ่งขึ้น”ซึ่งเป็นความเท็จเพราะที่ดินของโจทก์ทุกแปลงได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายและต่อมาโจทก์ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแก้งสนามนาง ส่วนนายสุเทพไม่ได้รับเลือกตั้ง ทำให้จำเลยทั้งสามกับพวกไม่พอใจ

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2539 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันทำหนังสือร้องเรียนใส่ความโจทก์ต่อนายอำเภอแก้งสนามนางว่า “ที่ดินที่โจทก์สร้างตลาดสดอำเภอแก้งสนามนาง(ตลาดบัวเงิน) เป็นที่สาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน แต่ถูกโจทก์บุกรุกเอาไปสร้างอาคารพาณิชย์เป็นส่วนตัว ขอให้อำเภอตั้งกรรมการตรวจสอบหลักฐานการได้มา และหากการออกเอกสารสิทธิไม่ถูกต้องก็ให้เพิกถอนด้วย”

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2539 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันทำบันทึกเป็นหนังสือร้องเรียนใส่ความโจทก์ต่อเจ้าหน้าที่แขวงการทางจังหวัดชัยภูมิว่า “นายสุทัศน์ พลแสนผู้มีอิทธิพลกว้านซื้อที่ดินของกรมทางหลวงเอาไปสร้างตลาดสดเป็นของส่วนตัวติดกับถนนสายชัยภูมิ-บัวใหญ่ ในเขตหมู่บ้านฤทธิ์รักษาโดยมีข้าราชการอำเภอและทางหลวงร่วมด้วย จึงขอให้ดำเนินการกับคนขี้โกงด้วย”

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2539 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันทำป้ายประกาศ 2 ป้าย โดยเขียนข้อความว่า “หมาเห่าเครื่องบิน – สาธารณประโยชน์จริง ๆ” และ “บุกรุก – อิทธิพลคับฟ้าท้าทาย – สาธารณประโยชน์ พวกมึงต้องยอม” นำไปปิดประกาศไว้ที่ตลาดสดอำเภอแก้งสนามนาง และร่วมกันแจกแผ่นปลิวให้สัมภาษณ์นักข่าวหนังสือพิมพ์ และโฆษณาข้อความอันเป็นเท็จด้วยเครื่องกระจายเสียงใส่ความโจทก์ต่อหน้านักข่าวและประชาชนจำนวนมากกว่า “นายสุทัศน์ พลแสน เป็นคนขี้โกง เขาโกงเอาแม้กระทั่งที่สาธารณประโยชน์ของหมู่บ้านไปเป็นของตนเองอย่างหน้าด้าน ๆพวกเราอย่ายอมมัน ลุกขึ้นมาต่อต้านมันให้ถึงที่สุดเพื่อเอาที่สาธารณประโยชน์ของพวกเราคืนมาให้ได้” การกระทำทั้งหมดดังกล่าวทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชังขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 326, 328 กับให้จำเลยทั้งสามออกประกาศด้วยแผ่นปลิว และประกาศโฆษณาทางเครื่องขยายเสียงในบริเวณหมู่บ้านหมู่ที่ 9 และตลาดอำเภอแก้งสนามนางติดต่อกันไม่น้อยกว่า 7 วัน ด้วยข้อความว่า “ที่จำเลยทั้งสามใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ว่าเป็นคนขี้โกง เอาที่สาธารณประโยชน์เป็นของตนเองนั้น เป็นความเท็จทั้งสิ้น” โดยจำเลยทั้งสามเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 จำคุก 3 เดือน และปรับ 10,000บาท จำเลยที่ 1 ไม่เคยมีประวัติกระทำความผิดมาก่อน ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2539 หลังจากโจทก์ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแก้งสนามนางแล้ว จำเลยที่ 1 ได้พูดผ่านเครื่องกระจายเสียงต่อประชาชนว่า โจทก์เป็นคนขี้โกง เอาที่สาธารณประโยชน์เป็นของตนเองหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) ต่อมาพนักงานอัยการได้ฟ้องโจทก์กับพวกเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1255/2541 ของศาลชั้นต้น กล่าวหาว่าโจทก์นำที่ดินซึ่งเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันมาขอออกเอกสารสิทธิน.ส.3 ก. โดยที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ที่ดินบางส่วนใน ส.ค.1 เลขที่ 45โจทก์ไม่ได้ซื้อมา และไม่มีผู้ใดครอบครองทำประโยชน์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ เห็นว่า คำกล่าวของจำเลยที่ 1 เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์เอาที่สาธารณประโยชน์ไปเป็นของตนเอง โดยจำเลยที่ 1 แสดงความคิดเห็นประกอบว่าโจทก์ผู้กระทำการดังกล่าวเป็นคนขี้โกงทั้งนี้ ที่จำเลยที่ 1 กล่าวเช่นนั้นก็โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนต่อต้านการกระทำที่จำเลยที่ 1 เห็นว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย มีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น เพื่อเรียกร้องเอาที่สาธารณประโยชน์ในตำบลที่จำเลยที่ 1 อยู่อาศัยคืน เพราะการที่โจทก์เสนอตัวต่อประชาชนให้เลือกตนเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจนได้รับเลือกตั้ง เป็นการแสดงต่อประชาชนว่าตนเป็นคนดี มีความซื่อสัตย์สุจริต ประชาชนสามารถไว้วางใจให้โจทก์เข้าไปมีส่วนร่วมบริหารกิจการขององค์การบริหารส่วนตำบลแทนประชาชนได้ แต่หากปรากฏว่าโจทก์โกงที่สาธารณประโยชน์เป็นของตนเอง โจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริต ประชาชนไม่ควรไว้วางใจให้โจทก์เข้าไปมีส่วนร่วมบริหารกิจการขององค์การบริหารส่วนตำบลแทนประชาชนเพราะโจทก์อาจทำเพื่อประโยชน์ของตนอย่างที่ประพฤติปฏิบัติมาแล้ว แทนที่จะทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และการเรียกร้องเอาที่สาธารณประโยชน์คืนเพื่อประโยชน์ของประชาชนและจำเลยที่ 1เองด้วย จำเลยที่ 1 จึงมีความชอบธรรมที่จะเปิดเผยให้ประชาชนทราบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวเพื่อป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตลอดจนแสดงความคิดเห็นติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งการกระทำดังกล่าวอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ และจากการเปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าวของจำเลยที่ 1 มีผลให้พนักงานอัยการฟ้องโจทก์กับพวกกล่าวหาว่าโจทก์นำที่ดินซึ่งเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันมาขอออกเอกสารสิทธิ น.ส.3 ก. แสดงว่าข้อความที่จำเลยที่ 1 กล่าวนั้นมีมูลความจริง มิใช่เป็นการเสกสรรปั้นแต่งเรื่องขึ้นใส่ร้ายโจทก์โดยไม่มีมูลความจริง การแสดงข้อความและความคิดเห็นของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยสุจริต ที่โจทก์อ้างว่า ขณะจำเลยที่ 1 กล่าวถ้อยคำดังกล่าว โจทก์ยังไม่ถูกดำเนินคดีอาญา ทั้งยังไม่มีคำพิพากษาว่าโจทก์กระทำความผิดจะถือว่าโจทก์กระทำความผิดตามที่ถูกฟ้องร้องยังไม่ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการกระทำโดยสุจริตนั้น เห็นว่า หากจำเลยที่ 1เชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าโจทก์ได้เอาที่สาธารณประโยชน์มาเป็นของโจทก์จริง มิได้มีเจตนาจะกลั่นแกล้งใส่ร้ายโจทก์ และเป็นการเชื่อโดยมีมูลอันควรเชื่อว่าเป็นความจริง การกล่าวข้อความของจำเลยที่ 1ก็เป็นการกระทำโดยสุจริตแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องให้โจทก์ถูกดำเนินคดีอาญาหรือต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิดเสียก่อนจึงจะกล่าวได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329(1)(3) นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share