แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยทำเอกสารเท็จยื่นขอเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของมณฑลทหารบกที่ 31 แม้ค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวอยู่ใน ความดูแลรับผิดชอบของมณฑลทหารบกที่ 31 แต่มณฑลทหารบกที่ 31เป็นเพียงหน่วยงานของกองทัพบกสังกัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2503 มาตรา 17 กำหนดให้กองทัพบกเป็นนิติบุคคล มณฑลทหารบกที่ 31 ไม่มีฐานะ เป็นนิติบุคคลจึงไม่ใช่ผู้เสียหายหรือถือว่าเป็นผู้แทนอื่นตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(3) การที่ พลตรี ศ. ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 31 มอบอำนาจให้พันโท ป. มาร้องทุกข์ ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวแทนกองทัพบก จึงถือว่าไม่มีการร้องทุกข์พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกและจ่าสิบเอกวิวัฒน์ ขำสุวรรณ์ จำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 143/2540 ของศาลชั้นต้นได้ร่วมกันหลอกลวงกองทัพบกผู้เสียหายที่ 1 และมณฑลทหารบกที่ 31 (ค่ายจิรประวัติ) ผู้เสียหายที่ 2 ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งโดยจำเลยกับพวกและจ่าสิบเอกวิวัฒน์ได้ร่วมกันจัดทำใบสำคัญความเห็นแพทย์ ใบสั่งการรักษา/แจ้งหนี้ ใบรับรองรายการยาและอวัยวะเทียมที่ไม่มีจำหน่ายในสถานพยาบาล ใบเสร็จรับเงินแสดงการจัดซื้ออวัยวะเทียมพร้อมอุปกรณ์ โดยอ้างว่านางผอบ ขำสุวรรณ์มารดาของจ่าสิบเอกวิวัฒน์ป่วย พิการ เข้ารับการตรวจรักษาจากแพทย์โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดตาก และได้ซื้ออวัยวะเทียมพร้อมอุปกรณ์ไปเป็นเงิน 23,910 บาท อันเป็นความเท็จ ความจริงนางผอบไม่ได้ป่วย พิการ ไม่ได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์ และไม่ได้มีการซื้ออวัยวะเทียมพร้อมอุปกรณ์ดังกล่าวข้างต้น แล้วจ่าสิบเอกวิวัฒน์ได้นำเอกสารไปยื่นขอเบิกเงินจากเจ้าหน้าที่ของผู้เสียหายที่ 2 โดยการหลอกลวงเช่นว่านั้นทำให้เจ้าหน้าที่ของผู้เสียหายที่ 2 หลงเชื่อจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จ่าสิบเอกวิวัฒน์และจำเลยกับพวกไป เป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 23,910 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสอง และนับโทษต่อ
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ประกอบด้วยมาตรา 83 จำคุก 1 ปี นับโทษต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1013/2542, 1014/2542, 1015/2542และ 1016/2542 ของศาลชั้นต้น คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาสู่ศาลฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า นอกจากกองทัพบกจะเป็นผู้เสียหายในคดีนี้แล้ว มณฑลทหารบกที่ 31 จะเป็นผู้เสียหายในคดีที่จำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 หรือไม่ ปรากฏในคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยร่วมกับพวกจัดทำเอกสารใบรับรองแพทย์ ใบแจ้งหนี้ ใบรับรองรายการยาและอวัยวะเทียมและใบเสร็จรับเงินว่านางผอบ ขำสุวรรณ์ เข้ารับการรักษาจากแพทย์โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดตาก และได้ซื้ออวัยวะเทียมพร้อมอุปกรณ์เป็นเงิน 23,910 บาท อันเป็นความเท็จแล้วยื่นขอเบิกเงินจำนวนดังกล่าวจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของมณฑลทหารบกที่ 31 เป็นการฉ้อโกงกองทัพบกและมณฑลทหารบกที่ 31 ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 เป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งสองได้รับความเสียหายซึ่งข้อเท็จจริงในทางพิจารณารับฟังได้ว่า ค่ารักษาพยาบาลที่จำเลยกับพวกเบิกไปจากมณฑลทหารบกที่ 31 เป็นเงินสวัสดิการอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของมณฑลทหารบกที่ 31 ซึ่งมณฑลทหารบกที่ 31 เป็นเพียงหน่วยงานของกองทัพบกผู้เสียหายที่ 1 สังกัดกระทรวงกลาโหม ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2503 มาตรา 17 กำหนดให้กองทัพบกเป็นนิติบุคคล มณฑลทหารบกที่ 31 ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มณฑลทหารบกที่ 31 เป็นเพียงต้นสังกัดผู้อนุมัติให้เบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของกองทัพบกแก่จำเลยกับพวกเท่านั้น มณฑลทหารบกที่ 31 จึงไม่ใช่ผู้เสียหายหรือถือว่าเป็นผู้แทนอื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(3) การที่พลตรีศิลกัล กัลยาณมิตร ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 31 มอบอำนาจให้พันโทประยูร ต๊ะปินตามาร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยกับพวกฐานความผิดฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว มิใช่คดีอาญาแผ่นดินแทนกองทัพบกผู้เสียหายที่ 1 ทั้งกองทัพบกก็ไม่ได้ร้องทุกข์ จึงถือว่าไม่มีการร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน และพนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120, 121 ปัญหาอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จำเลยไม่ให้การต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า พนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและพิพากษายกฟ้องมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน