คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8788/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งได้จดทะเบียนตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ จำเลยที่ 2 และมีบริษัทหลักทรัพย์ บ. เป็นผู้บริหารกองทุน จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง โจทก์จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนจำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2540 ถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2546 เป็นจำนวนเงิน 33,858.84 บาท มีระเบียบของจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 จะต้องจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์เมื่อออกจากงาน จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์วันที่ 23 พฤศจิกายน 2546 เป็นผลให้โจทก์สิ้นสุดสมาชิกภาพ ตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามระเบียบของจำเลยที่ 2 โจทก์มีสิทธิได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์ที่จ่ายเข้ากองทุนทั้งหมดคืนเป็นจำนวน 33,858.84 บาท ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์สิ้นสมาชิกภาพ ดังนี้ การเรียกเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งจดทะเบียนแล้ว ต้องฟ้องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งจดทะเบียนแล้วเป็นจำเลยให้จ่ายเงินสะสมและผลประโยชน์ให้ ไม่ว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือผู้จัดการกองทุนจะได้ส่งเงินและผลประโยชน์คืนให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างไปแล้วหรือไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสะสมให้แก่โจทก์ จำนวน 33,858.84 บาท การที่จำเลยที่ 2 ชำระเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยจ่ายเป็นเช็คธนาคาร ก. สาขาสีลม และส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อติดต่อให้โจทก์มารับไป แต่โจทก์มีภาระหนี้ค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 979,820 บาท จำเลยที่ 1 จึงใช้สิทธิยึดหน่วงเงินจำนวน 33,858.84 บาท โดยครอบครองเช็คที่จำเลยที่ 2 จ่ายให้โจทก์ไว้ไม่ส่งมอบแก่โจทก์ จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่นำเช็คไปชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามที่จำเลยที่ 2 มอบหมาย จำเลยที่ 2 จึงยังไม่หลุดพ้นจากหนี้ เพราะโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ เงินจำนวน 33,858.84 บาท เป็นหนี้เงินที่จำเลยที่ 2 ต้องจ่ายให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่จ่ายภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันสิ้นสุดสมาชิกภาพตามข้อบังคับของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันจ่ายเงินสะสม เงินสมทบ พร้อมผลประโยชน์จำนวน 74,986.18 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระครบถ้วนแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์แถลงไม่ติดใจเรียกร้องเงินสมทบและผลประโยชน์จากจำเลยทั้งสองอีกต่อไป ขอสละประเด็นดังกล่าว คงติดใจให้ศาลวินิจฉัยเฉพาะในประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิยึดหน่วงเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสมของโจทก์หรือลูกจ้างหรือไม่ และจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 จ่ายเงินสะสมและผลประโยชน์จำนวนเงิน 33,858.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2546 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ จำเลยที่ 2 และมีบริษัทหลักทรัพย์บีฟิท จำกัด เป็นผู้บริหารจัดการกองทุนดังกล่าว จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ทำงานในตำแหน่งพนักงานขายเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2536 มีข้อกำหนดเกี่ยวกับเงินสะสมและผลประโยชน์ โจทก์จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนจำเลยที่ 2 เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2540 ถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2546 เป็นจำนวนเงิน 33,858.84 บาท มีระเบียบของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์เมื่อออกจากงาน โจทก์มาทำงานวันสุดท้ายในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2546 จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์วันที่ 23 พฤศจิกายน 2546 เป็นผลให้โจทก์สิ้นสุดสมาชิกภาพตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามระเบียบของจำเลยที่ 2 โจทก์มีสิทธิได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์ที่จ่ายเข้ากองทุนทั้งหมดคืนเป็นจำนวนเงิน 33,858.84 บาท เหตุที่ยังไม่จ่ายเงินให้แก่โจทก์เนื่องจากจำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์กระทำทุจริตผิดต่อหน้าที่ในตำแหน่งพนักงานขาย ร่วมกันฉ้อโกงและยักยอกเงินของจำเลยที่ 1 ไปเป็นจำนวนเงิน 990,000 บาทเศษ ซึ่งจำเลยที่ 1 ฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์และมีคำขอเรียกเงินค่าเสียหายในส่วนแพ่งไว้ แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 แล้ว กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จดทะเบียนแล้วจึงเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้าง ดังนั้นการเรียกเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จดทะเบียนแล้ว จึงต้องฟ้องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จดทะเบียนแล้วเป็นจำเลยให้จ่ายเงินสะสมและผลประโยชน์ให้ ไม่ว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือผู้จัดการกองทุนจะได้ส่งเงินสะสมและผลประโยชน์คืนให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างไปแล้วหรือไม่ กรณีเช่นนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองแม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ยกขึ้นต่อสู้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ และเมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิยึดหน่วงเงินสะสมพร้อมผลประโยชน์ของโจทก์ตามจำนวนเงินที่พิพาทกันอีกหรือไม่ต่อไป โจทก์สิ้นสุดสมาชิกภาพเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2546 จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายเงินสะสมให้แก่โจทก์ จำนวน 33,858.84 บาท ตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามระเบียบของกองทุนฯจำเลยที่ 2 ภายใน 30 วัน นับแต่วันสิ้นสุดสมาชิกภาพตามหมวด 8 ข้อ 8.8 โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยที่ 2 เพิกเฉย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดจ่ายเงินสะสมพร้อมผลประโยชน์ให้แก่โจทก์ จำนวน 33,858.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์รวมกันมาขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสองนั้น เมื่อคดีนี้ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 แล้ว จึงไม่มีเหตุให้จำเลยที่ 1 ต้องอุทธรณ์ขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 อีก คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดจ่ายเงินสะสมพร้อมผลประโยชน์จำนวน 33,858.84 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 ครอบครองเงินสะสมพร้อมผลประโยชน์ของเงินสะสมของโจทก์ เมื่อโจทก์มีหนี้ค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 เป็นเงินค่าสินค้าค่าขวดน้ำประเภทเครื่องดื่มและเงินสดของจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 979,820 บาท จำเลยที่ 1 จึงใช้สิทธิยึดหน่วงเงินสะสมพร้อมผลประโยชน์ของเงินสะสมของโจทก์ไว้นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่จะต้องคืนเงินสะสมพร้อมผลประโยชน์ของเงินสะสมของโจทก์ให้แก่โจทก์ กับความรับผิดของโจทก์ที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นคนละส่วนกัน แม้จำเลยทั้งสองจะให้การรวมกันมาว่า จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์โดยจ่ายเป็นเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสีลม ให้แก่โจทก์และส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อติดต่อให้โจทก์มารับไป แต่โจทก์มีภาระหนี้ค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 979,820 บาท จำเลยที่ 1 จึงใช้สิทธิยึดหน่วงเงินจำนวน 33,858.84 บาท อันเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ครอบครองเช็คที่จำเลยที่ 2 จ่ายให้โจทก์ไว้ดังอุทธรณ์ แต่ก็เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่นำเช็คไปชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามที่จำเลยที่ 2 มอบหมาย จำเลยที่ 2 จึงยังไม่หลุดพ้นจากหนี้เพราะโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยไปถึงว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิยึดหน่วงหรือไม่ และเมื่อหนี้ยังไม่ระงับไป จำเลยที่ 2 จึงยังต้องชำระหนี้จำนวน 33,858.84 บาท ให้แก่โจทก์ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อไปว่า เงินจำนวน 33,858.84 มีเงินสะสมของโจทก์เพียง 24,565.75 บาท และมีเงินผลประโยชน์ของเงินสะสมอีก 9,293 บาท เงินผลประโยชน์เปรียบเสมือนดอกเบี้ย หากยอมให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากเงินผลประโยชน์ด้วยย่อมเป็นการคิดดอกเบี้ยที่ไม่ชอบ ต้องคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินสะสมจำนวน 24,565.75 บาทเท่านั้น เห็นว่า เงินจำนวน 33,858.84 บาท เป็นหนี้เงินที่จำเลยที่ 2 จะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่จ่ายภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันสิ้นสุดสมาชิกภาพตามข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ข้อ 8.8 จำเลยที่ 2 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องเสียดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินที่ต้องจ่ายทั้งจำนวนมิใช่ให้คิดดอกเบี้ยจากต้นเงินบางส่วน อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน.

Share