คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 835/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์ทั้งสองจะถูกคำสั่งให้ลงโทษพักงานและงดทำงานล่วงเวลาภายหลังที่พระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์พ.ศ. 2534 ใช้บังคับแล้วก็ตาม แต่เมื่อการกระทำของโจทก์ที่ถูกกล่าวหาว่าทิ้งหน้าที่อันเป็นข้อพิพาทในคดีได้เกิดขึ้นและยังไม่ถึงที่สุดก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับ ดังนั้นสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองจะพึงมีตามกฎหมายรวมทั้งการดำเนินการตามสิทธิที่จะเกิดขึ้นจากข้อพิพาทดังกล่าวนั้น จะต้องพิจารณาตามบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ข้อพิพาทเกิดขึ้นคือประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2515ซึ่งไม่มีบทบัญญัติให้โจทก์ทั้งสองต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้แต่อย่างใด คดีของโจทก์ไม่อยู่ในบังคับตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องคดีได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2534 จำเลยที่ 3ได้แต่งตั้งจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์ทั้งสองในข้อหาเข้าออกโรงงานยาสูบ 5 โดยไม่มีใบผ่านระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2532 ถึงวันที่ 28 มีนาคม 2533 จำเลยที่ 4ถึงที่ 6 สอบสวนแล้วมีความเห็นว่า โจทก์ทั้งสองได้กระทำผิดวินัยเข้าออกโรงงานยาสูบ 5 โดยไม่มีใบผ่าน เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อำนวยการโรงงานยาสูบที่ ท.140/2517 ลงวันที่ 2 เมษายน 2517ข้อ 2.3 มีความผิดฐานละทิ้งหน้าที่ จำเลยที่ 7 และที่ 8 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ จึงมีคำสั่งลงโทษโจทก์ทั้งสอง โดยพักงาน 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 26 ถึงวันที่ 28สิงหาคม 2534 และทำทัณฑ์บนเป็นเวลา 6 เดือน โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 มีคำสั่งให้ลงโทษโจทก์ทั้งสอง คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 และคำสั่งลงโทษของจำเลยที่ 7 และที่ 8 กับที่ 3 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากวันที่ 1 กันยายน 2532 ถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2532โจทก์ทั้งสองยังเป็นสมาชิกและกรรมการของสหภาพแรงงานยาสูบ มีสิทธิเข้าออกโรงงานยาสูบ 5 ได้ หลังจากวันที่ 26 ตุลาคม 2532 โจทก์ทั้งสองพ้นจากตำแหน่งกรรมการสหภาพแรงงานยาสูบจึงมีฐานะเช่นพนักงานทั่วไปและปฏิบัติตามคำสั่งในระเบียบข้อบังคับของผู้อำนวยการยาสูบเกี่ยวกับการเข้าออกโรงงานยาสูบ 5 ทุกประการและตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2532 จนถึงวันที่ 28 มีนาคม 2533โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้ก่อการและเป็นผู้แทนสหภาพแรงงานผู้ใช้แรงงานยาสูบ ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 3 ให้เข้าออกโรงงานยาสูบได้อย่างถูกต้องตามระเบียบและคำสั่งของจำเลยที่ 3 นอกจากนั้นโจทก์ทั้งสองยังถูกงดทำงานล่วงเวลามีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่26 สิงหาคม 2534 จนถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2535 ตามคำสั่งของจำเลยที่ 3 และที่ 9 คำสั่งของจำเลยที่ 3 และที่ 9 ขัดต่อระเบียบว่าด้วยวินัย การร้องทุกข์และการเลิกจ้าง พ.ศ. 2515 ซึ่งกำหนดว่าโทษภาคทัณฑ์และห้ามมิให้ทำงานล่วงเวลานั้นใช้บังคับเฉพาะปีงบประมาณ(ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 30 กันยายนของปีถัดไป) เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2534 เป็นวันสิ้นปีงบประมาณ โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิทำงานล่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2534 เป็นต้นไปขอให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยลงโทษของจำเลยที่ 7 และที่ 8 และคำสั่งลงโทษของจำเลยที่ 3 และที่ 9 โดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 คืนสิทธิประโยชน์ที่โจทก์ทั้งสองพึงได้รับเสมือนไม่เคยถูกลงโทษและให้บังคับจำเลยที่ 2 และที่ 3 คืนค่าจ้างระหว่างวันที่ 26 ถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2534 จำนวน 1,369.98 บาท และ 1,333.44 บาทแก่โจทก์ทั้งสองตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับถัดจากวันฟ้องและชดใช้ค่าเสียหายที่ห้ามโจทก์ทั้งสองทำงานล่วงเวลาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2534 จนถึงวันฟ้องคนละ 7,500 บาทและค่าเสียหายถัดจากเดือนที่ฟ้องถึงเดือนสิงหาคม 2535 รวมเป็นเงินค่าเสียหาย 165,500 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งเก้าให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ทั้งสองเป็นพนักงานรายชั่วโมงของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้ออกคำสั่งที่ ท.140/2517 ลงวันที่ 2 เมษายน 2517 กำหนดให้พนักงานยาสูบที่เข้าออกบริเวณโรงงาน ต้องมีใบผ่านและคำสั่งที่ ท.53/2520ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2520 กำหนดให้พนักงานยาสูบ ที่เป็นกรรมการสหภาพแรงงานผ่านเข้าออกบริเวณโรงงานยาสูบโดยไม่ต้องใช้ใบผ่านแต่ต้องใช้บัตรอนุญาตผ่านเข้าออกประจำตัวกรรมการสหภาพ ระหว่างปี 2529 ถึง 2532 โจทก์ทั้งสองเป็นกรรมการสหภาพแรงงานยาสูบ ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม 2532 คณะกรรมการสหภาพแรงงานยาสูบ มีมติให้โจทก์ทั้งสองพ้นจากการเป็นสมาชิกและกรรมการสหภาพ นับแต่วันดังกล่าวโจทก์ทั้งสองจึงต้องใช้ใบผ่านในการเข้าออกบริเวณโรงงานยาสูบ แต่ระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2532 ถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2532 และวันที่ 6ธันวาคม 2532 ถึงวันที่ 28 มีนาคม 2533 โจทก์ทั้งสองเข้าออกบริเวณโรงงานยาสูบ 5 โดยไม่ได้ใช้ใบผ่าน การกระทำของโจทก์ทั้งสองแสดงว่าไม่มีหลักฐานว่าโจทก์ทั้งสองได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 2 จึงสั่งลงโทษทางวินัยโจทก์ทั้งสองให้พักงานคนละ 3 วันโดยไม่จ่ายค่าจ้าง ฐานละทิ้งหน้าที่ ตามระเบียบโรงงานยาสูบว่าด้วยวินัยและการร้องทุกข์และการเลิกจ้าง พ.ศ. 2515 และคำสั่งของจำเลยที่ 3 และที่ 9 ที่ห้ามพนักงานยาสูบที่ถูกลงโทษทางวินัยทำงานล่วงเวลาเป็นเวลา 1 ปี โดยให้นับวันชนวันซึ่งเป็นคำสั่งที่มีต่อลูกจ้างทั่วไป มิได้ใช้บังคับเฉพาะโจทก์ทั้งสองเท่านั้นจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ขัดกับระเบียบว่าด้วยวินัยการร้องทุกข์และการเลิกจ้าง พ.ศ. 2515 และไม่เกี่ยวกับปีงบประมาณตามที่โจทก์ทั้งสองอ้าง การทำงานล่วงเวลาอยู่ในดุลพินิจของนายจ้างที่จะให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา มิใช่ว่าลูกจ้างทุกคนจะได้ทำงานล่วงเวลา โจทก์ทั้งสองจึงยังไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายเนื่องจากถูกสั่งงดทำงานล่วงเวลา จำเลยที่ 2 หักค่าจ้างตามจำนวนที่โจทก์ทั้งสองฟ้อง เนื่องจากโจทก์ทั้งสองไม่ได้ทำงานให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยทั้งเก้าจึงไม่ต้องคืนค่าจ้างดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสอง และไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยตามฟ้อง จำเลยที่ 2 เป็นรัฐวิสาหกิจ มูลคดีที่โจทก์ฟ้องเป็นเรื่องวันทำงาน ค่าจ้างเงินเดือน และสวัสดิการของพนักงานต้องด้วยกรณีตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 และประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง กำหนดกิจการที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่16 มีนาคม 2515 ไม่ใช้บังคับ ซึ่งรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เป็นกิจการที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ไม่ใช้บังคับ มีผลทำให้คดีนี้ไม่ได้อยู่ในบังคับของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงาน โจทก์ทั้งสองไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์พ.ศ. 2534 มาตรา 18(2) และมาตรา 11(2) ที่กำหนดไว้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางเห็นว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานหรือไม่ จึงได้ส่งสำนวนให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยแล้วว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลาง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งสองขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2ศาลแรงงานกลางอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 ต่อมาโจทก์ทั้งสองถูกตั้งกรรมการสอบสวนโดยถูกกล่าวหาว่าละทิ้งหน้าที่ระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2532ถึงวันที่ 28 มีนาคม 2533 คณะกรรมการสอบสวนพิจารณาแล้วเสนอให้ลงโทษพักงานโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 3มีความเห็นยืนตามคำสั่งของคณะกรรมการสอบสวนโดยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 7 และจำเลยที่ 8 มีคำสั่งให้พักงานโจทก์ทั้งสองเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2534 จำเลยที่ 3 และที่ 9 มีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองงดทำงานล่วงเวลามีกำหนด 1 ปี ตามคำสั่งลงวันที่7 มิถุนายน 2534 และ 11 กรกฎาคม 2534 ตามลำดับ จึงกระทบสิทธิประโยชน์ของโจทก์ทั้งสองภายหลังที่พระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 ใช้บังคับแล้ว โจทก์ทั้งสองจะต้องร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์พิจารณาก่อนตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์พ.ศ. 2534 เมื่อโจทก์ทั้งสองมิได้ร้องทุกข์ให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าว โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ไม่จำต้องวินิจฉัยถึงประเด็นข้ออื่นอีกต่อไป พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่าการกระทำของโจทก์ทั้งสองเป็นข้อพิพาทคดีนี้เกิดขึ้นก่อนพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 จะใช้บังคับจึงตกอยู่ในบังคับของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 และประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง กำหนดกิจการที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่16 มีนาคม 2515 ไม่ใช้บังคับ ประกาศ ณ วันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2534โจทก์ทั้งสองจึงไม่จำต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาตรา 18นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้โจทก์ทั้งสองจะถูกคำสั่งให้ลงโทษพักงานและงดทำงานล่วงเวลาภายหลังที่พระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 ใช้บังคับแล้วก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็ได้ความว่า การกระทำของโจทก์ทั้งสองที่ถูกกล่าวหาว่าละทิ้งหน้าที่อันเป็นข้อพิพาทในคดีนี้นั้น ได้เกิดขึ้นและยังไม่ถึงที่สุดก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับและตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดกิจการที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2515 ไม่ใช้บังคับข้อ 3วรรคแรก มีข้อความว่า “บรรดาคำร้อง ข้อพิพาท หรือคดีซึ่งยังไม่ถึงที่สุดก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้บังคับตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 จนกว่าคำร้องข้อพิพาทหรือคดีนั้น ๆ จะถึงที่สุด” ในกรณีนี้ข้อพิพาทยังไม่ถึงที่สุดก่อนวันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวใช้บังคับด้วยดังนั้น สิทธิและหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองจะพึงมีตามกฎหมาย รวมทั้งการดำเนินการตามสิทธิที่จะเกิดขึ้นจากข้อพิพาทดังกล่าวนั้นจะต้องพิจารณาตามบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีข้อพิพาทเกิดขึ้นคือตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16มีนาคม พ.ศ. 2515 ซึ่งไม่มีบทบัญญัติให้โจทก์ทั้งสองจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้แต่อย่างใด คดีของโจทก์ทั้งสองไม่อยู่ในบังคับตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์พ.ศ. 2534 โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องต่อศาลแรงงานกลางได้โดยไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีการอย่างใดก่อน ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องนั้น จึงไม่ชอบ อุทธรณ์โจทก์ทั้งสองฟังขึ้น
ส่วนประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 ถึงข้อ 4 ที่ศาลแรงงานกลางกำหนดไว้นั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้วินิจฉัยเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาในประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวต่อไป”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวข้างต้น แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share