คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 663/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การคิดค่าธรรมเนียมการขายโดยวิธีประมูลระหว่างคู่ความว่าเป็นจำนวนเท่าใดนั้น จะต้องคิดจากราคาทรัพย์สินทั้งหมดที่ขายได้โดยไม่ยกเว้นให้แก่ส่วนนอกที่พิพาท ส่วนคู่ความฝ่ายใดจะต้องรับผิดเพื่อค่าฤชาธรรมเนียมที่คิดไว้นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่คิดหักค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีจากทรัพย์ส่วนที่มิได้เป็นทรัพย์พิพาทจึงถูกต้องแล้ว

ย่อยาว

คดีนี้เดิมโจทก์ฟ้องนายแม้นเป็นจำเลยว่าโจทก์จำเลย และนายเมื้อนเป็นบุตรนายแสง นางหอม นายแสงตายทายาททุกคนต่างครอบครองมรดกร่วมกันและแทนกัน โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินมรดกให้โจทก์เพราะจำเลยอ้างว่าถือโฉนดอยู่จำเลยไม่ยอม ขอให้ศาลบังคับ

จำเลยให้การว่า นางหอมมารดาโจทก์จำเลยได้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกแล้งนางหอมได้ยกที่ดินแปลงหนึ่งให้โจทก์ จำเลยไม่โต้แย้ง ขอให้ยกฟ้อง

ในวันนัดชี้สองสถาน ศาลเห็นว่าเป็นการจำเป็นที่จะเรียกนางหอมเข้ามาในคดีด้วย จึงออกหมายเรียกนางหอมเข้ามาในคดี

นางหอมมาศาลในวันนัดพร้อมแถลงว่าได้จัดการแบ่งมรดกโฉนดเลขที่ 20969 ให้แก่โจทก์ โจทก์แถลงว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 20969 นั้น นางชุ่มยายโจทก์ยกให้โจทก์แล้ว ไม่ใช่มรดก นางหอมแถลงว่าที่ดินแปลงนี้นางชุ่มยกให้ตนแล้วตนยกให้โจทก์

ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกนายเมื้อนเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลอนุญาต หลังจากนั้นโจทก์ยื่นคำร้องว่า นางหอมและนายเมื้อนมิได้ยื่นคำให้การภายในกำหนด ขอให้ศาลสั่งขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลมีคำสั่งอนุญาตามที่โจทก์ขอ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้ นายแม้นจำเลย นางหอมและนายเมื้อนจำเลยร่วมไปจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดิน 1 ใน 4 ของที่ดิน 3 แปลง ส่วนที่เป็นมรดกให้แก่โจทก์ หากแบ่งแยกตกลงกันไม่ได้ให้ประมูลราคากันระหว่างโจทก์ จำเลยและจำเลยร่วม หากการประมูลไม่เป็นที่ตกลงกัน ให้เอาทรัพย์นั้นขายทอดตลาดแล้วแบ่งเงินที่ขายได้ในระหว่างโจทก์จำเลยและจำเลยร่วม หากการประมูลไม่เป็นที่ตกลงกัน ให้เอาทรัพย์นั้นขายทอดตลาด แล้วแบ่งเงินที่ขายได้ในระหว่างโจทก์จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสอง คนละ 1 ส่วนเท่า ๆ กัน

จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองอุทธรณ์ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความและต้องขายที่ดินมรดกใช้หนี้ก่อน

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าข้อที่จำเลยและจำเลยร่วมยกขึ้นอ้างอิงในฟ้องอุทธรณ์นั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น พิพากษายกอุทธรณ์จำเลยและจำเลยร่วม

จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่าเป็นฎีกาต้องห้ามไม่รับฎีกา

จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ยอมรับฎีกาต่อศาลฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งว่าที่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกานั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

ต่อมาคู่ความไม่สามารถตกลงแบ่งแยกที่ดินกัน ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสามแปลง ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินทั้งสามแปลงนั้น แต่ยังไม่ทันดำเนินการขายทอดตลาดศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ดำเนินการประมูลกันในระหว่างโจทก์ จำเลย และจำเลยร่วมแทนการขายทอดตลาดตามที่คู่ความตกลงกัน ปรากฏว่านางหอม นายเมื้อนจำเลยร่วมและนายแม้นจำเลยประมูลได้คนละแปลง เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีคิดส่วนแบ่งเงินได้จากการประมูลแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีคิดส่วนหักของนางหอมภริยาเจ้ามรดกไม่ถูกต้อง นางหอมเป็นภริยาก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4, 5 ต้องเป็นมรดก 2 ส่วนของนางหอม1 ส่วน และในการคิดหักค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีหักส่วนของนางหอมออกก่อนแล้วนำค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีมาหักจากส่วนได้ที่จะต้องแบ่งนั้นไม่ถูกต้อง

ศาลชั้นต้นนัดคู่ความพร้อมกันแล้ววินิจฉัยว่า บัญชีส่วนแบ่งเงินได้จากการประมูลของเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้นถูกต้องตรงคำพิพากษาแล้ว มีคำสั่งยืนตามบัญชี

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จากคำบรรยายฟ้องของโจทก์ว่าโฉนดหนึ่ง ๆ มีเนื้อที่เฉพาะส่วนที่เป็นมรดก 2 ไร่ 14 ตารางวา และ 3 ไร่ 30 ตารางวา แต่ภาพถ่ายโฉนดทั้งสองแปลงที่คู่ความส่งศาลมีเนื้อที่ 4 ไร่ 28 ตารางวา และ 6 ไร่ 60 ตารางวา จึงเห็นได้ว่าที่ดินมรดกที่โจทก์อ้างว่ามีอยู่ 1 ใน 2 ส่วน หรือครึ่งหนึ่งนั่นเอง ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีนำเอาส่วนที่เป็นมรดกครึ่งหนึ่งมาเป็นเกณฑ์ในการแบ่งเงินที่ได้จากการขายที่ดินพิพาทนั้น ชอบแล้ว และว่าการคิดค่าธรรมเนียมการขายโดยวิธีประมูลระหว่างคู่ความว่าเป็นจำนวนเท่าใดนั้นจะต้องคิดจากราคาทรัพย์สินทั้งหมดที่ขายได้ แม้ที่ดินที่ขายนั้นจะมีส่วนที่นอกพิพาทรวมอยู่ด้วย เมื่อขายที่ดินทั้งแปลง ก็ต้องคิดค่าธรรมเนียมการขายจากราคาที่ดินทั้งแปลงนั้น โดยไม่ยกเว้นให้แก่ส่วนนอกที่พิพาท ส่วนคู่ความฝ่ายใดจะต้องรับผิดเพื่อค่าธรรมเนียมที่คิดไว้นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่คิดหักค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีในที่ดินส่วนที่นางหอมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในฐานะคู่สมรสเพราะที่ดินส่วนนั้นมิได้เป็นทรัพย์พิพาทดังศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไว้นั้นถูกต้องแล้ว

พิพากษายืน

Share