แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 1 ขับรถโดยสารซึ่งเป็นรถมีขนาดใหญ่ถอยหลังคนที่อยู่ด้านหลังรถดังกล่าวมีโอกาสที่จะถูกรถโดยสารที่จำเลยที่ 1 ขับเฉี่ยวชนได้ง่าย จำเลยที่ 1 จึงต้องใช้ความระมัดระวังดูแลบริเวณข้างหลังให้ปลอดภัยเสียก่อน เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถโดยสารถอยหลังชนและทับผู้ตายเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลบริเวณข้างหลังให้ปลอดภัยเสียก่อนดังนี้เหตุรถโดยสารชนและทับผู้ตายเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1
โจทก์ที่ 1 ทำศพผู้ตายทั้งประเพณีไทยและจีนเนื่องจากผู้ตายเป็นคนเชื้อชาติจีน สิ้นค่าใช้จ่ายรวมเป็นเงิน 76,692 บาท เนื่องจากผู้ตายมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าหมวดบัญชีค่าโดยสาร ได้รับเงินเดือน 8,317.75 บาท ค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพจำนวนดังกล่าวจึงเหมาะสมแก่ฐานานุรูปของผู้ตายแล้ว ที่ศาลล่าง-ทั้งสองกำหนดค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพเป็นเงินจำนวน 68,185 บาท จึงเป็นการสมควร
ในส่วนค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของผู้ตาย ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1461 วรรคสอง นั้น โจทก์ที่ 1 มีอายุ 47 ปี ส่วนผู้ตายมีอายุ 50 ปี ย่อมเห็นได้ว่าโจทก์ที่ 1 มีโอกาสได้รับอุปการะตามกฎหมายได้ไม่น้อยกว่า 10 ปี ที่โจทก์ที่ 1 เรียกค่าขาดไร้อุปการะเป็นระยะเวลา 10 ปีจึงเป็นระยะเวลาที่สมควร
ขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 2 และที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรมีอายุเกิน 20 ปีเป็นบุคคลบรรลุนิติภาวะแล้ว และค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะตามป.พ.พ.มาตรา 443 วรรคสาม จะต้องเป็นการขาดไร้อุปการะตามกฎหมายหาได้มีความหมายรวมไปถึงการขาดไร้อุปการะตามหน้าที่ศีลธรรมไม่ อีกทั้งในข้อที่บิดาจำต้องให้อุปการะเลี้ยงดูบุตรตามกฎหมายนั้น ป.พ.พ.มาตรา 1564 บัญญัติให้บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วแต่เฉพาะผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ เมื่อขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 2 และที่ 4 มิใช่ผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ โจทก์ที่ 2 และที่ 4 จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะตาม ป.พ.พ.มาตรา 443 วรรคสาม
สำหรับโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8 แม้ว่ายังไม่บรรลุนิติภาวะแต่ก็จะได้รับค่าอุปการะเท่าที่อยู่ในข่ายตาม ป.พ.พ.มาตรา 443 วรรคสาม บัญญัติไว้กล่าวคือเท่าที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเว้นแต่จะเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8 เป็นผู้ทุพพลภาพ โจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8แต่ละคนจึงมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมายนับแต่วันเกิดเหตุไปจนกระทั่งมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ อันเป็นบุคคลที่พ้นจากภาวะผู้เยาว์และเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะ หาใช่แต่ละคนมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะไปจนถึง 10 ปี นับจากวันเกิดเหตุไม่
ตาม ป.พ.พ.มาตรา 206 ในกรณีหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิดลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิดและจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระแก่โจทก์ทั้งแปดนั้นศาลได้กำหนดเป็นจำนวนเงินที่แน่นอน เป็นหนี้เงินที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระทันที จำเลยทั้งสองจึงต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัด
ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 158 ถ้าศาลเห็นว่า คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นผู้รับผิดเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของคู่ความทั้งสองฝ่าย ให้ศาลพิพากษาในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมโดยสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนั้นชำระต่อศาลในนามของบุคคลผู้ฟ้องหรือต่อสู้ความอย่างคนอนาถา ซึ่งค่าฤชา-ธรรมเนียมที่ผู้ฟ้องหรือต่อสู้ความอย่างคนอนาถานั้นได้ยกเว้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามที่ศาลเห็นสมควร ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยผู้ซึ่งจะต้องรับผิดเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดให้เป็นผู้เสียค่าฤชาธรรมเนียมเฉพาะส่วนที่โจทก์ทั้งแปดชนะคดีได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาได้
หนี้ที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้เมื่อจำเลยที่ 2 ฎีกาและศาลฎีกากำหนดค่าสินไหมทดแทนกรณีขาดไร้อุปการะที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดน้อยลง แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดเท่ากับจำเลยที่ 2 ได้