แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 94 วรรคสอง บัญญัติว่า “บรรดาทรัพย์สินของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยที่ยังคงเหลืออยู่ ให้จัดโอนแก่กระทรวงการคลังภายในเวลาหกสิบวันนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี” ซึ่งสอดคล้องกับ พ.ร.ฎ. ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 มาตรา 19 ที่บัญญัติว่า “เมื่อเสร็จการชำระบัญชีแล้วให้คณะกรรมการชำระบัญชีดำเนินการ ดังต่อไปนี้… (2) ให้โอนทรัพย์สินที่คงเหลือให้แก่กระทรวงการคลังภายในหกสิบวันนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี” เมื่อโจทก์ทั้งสองอ้างว่าจำเลยที่ 1 ยังมีหน้าที่ทำหนังสือรับรองการโอนอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ของสถาบันการเงินให้แก่โจทก์ทั้งสอง กระทรวงการคลังจึงมีหน้าที่ในภารกิจที่ยังค้างอยู่ของจำเลยที่ 1 และย่อมเป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีนี้แทนจำเลยที่ 1 ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันจัดทำหนังสือรับรองการโอนอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ของสถาบันการเงินให้แก่ผู้อื่นซึ่งไม่ใช่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน เพื่อนำเงินที่ได้จากการโอนอสังหาริมทรัพย์ไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน เพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 547) พ.ศ.2555 ตามแบบแนบท้ายประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2555 ให้กับโจทก์ทั้งสองหากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสองต่อไป
จำเลยที่ 1 โดยกระทรวงการคลังยื่นคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลภาษีอากรกลาง จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า นับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2544 จำเลยที่ 1 ได้ถูกจัดตั้งขึ้นตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 5 ให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณและกฎหมายอื่นโดยมาตรา 95 แห่งพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 บัญญัติให้จำเลยที่ 1 ยุบเลิกสิ้นสภาพความเป็นนิติบุคคลเมื่อสิ้นปีที่สิบ คือ ภายในวันที่ 8 มิถุนายน 2554 โดยต้องชำระบัญชีให้แล้วเสร็จภายในเวลาไม่ช้ากว่า 12 ปี นับแต่วันที่พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ใช้บังคับ คือภายในวันที่ 8 มิถุนายน 2556 ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยจึงสิ้นสภาพบุคคลไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นคู่ความในคดีนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ขอให้ศาลยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นวินิจฉัยก่อนดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปว่า โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีสภาพบุคคลแล้วเป็นคดีนี้หรือไม่
โจทก์ทั้งสองยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
วันนัดชี้สองสถาน ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งว่า แม้พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 95 บัญญัติให้พระราชกำหนดดังกล่าวเป็นอันยกเลิกเมื่อครบกำหนด 12 ปี นับแต่วันที่พระราชกำหนดใช้บังคับ แต่ปรากฏจากคำแถลงของกระทรวงการคลังว่าคณะกรรมการชำระบัญชียังชำระบัญชีไม่เสร็จสิ้นภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ดังนั้น บรรษัทบริหารสินทรัพย์จึงยังมีสภาพนิติบุคคลอยู่ตามมาตรา 94 แห่งพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 โดยผู้ชำระบัญชีได้ กระทรวงการคลังไม่สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลยที่ 1 เนื่องจากเป็นคนละบุคคลกัน การที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นคำให้การ และคำสั่งรับคำให้การของจำเลยที่ 1 ซึ่งกระทรวงการคลังยื่นไว้นั้น จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ สมควรให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การภายในกำหนดจึงถือว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ ให้สืบพยานโจทก์ทั้งสองในส่วนของจำเลยที่ 1 ไปฝ่ายเดียว งดชี้สองสถาน ให้นัดสืบพยานโจทก์ทั้งสองและพยานจำเลยที่ 2 ตามที่นัดไว้เดิม
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า คำสั่งของศาลภาษีอากรกลางที่ให้เพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นคำให้การ และให้เพิกถอนคำสั่งรับคำให้การของจำเลยที่ 1 พร้อมกับให้ถือว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เห็นว่า ตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 94 วรรคสอง บัญญัติว่า “บรรดาทรัพย์สินของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยที่ยังคงเหลืออยู่ ให้จัดโอนแก่กระทรวงการคลังภายในเวลาหกสิบวันนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี” ซึ่งสอดคล้องกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 มาตรา 19 ที่บัญญัติว่า “เมื่อเสร็จการชำระบัญชีแล้วให้คณะกรรมการชำระบัญชีดำเนินการ ดังต่อไปนี้… (2) ให้โอนทรัพย์สินที่คงเหลือให้แก่กระทรวงการคลังภายในหกสิบวันนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี” เมื่อโจทก์ทั้งสองอ้างว่าจำเลยที่ 1 ยังมีหน้าที่ทำหนังสือรับรองการโอนอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ของสถาบันการเงินให้แก่โจทก์ทั้งสอง กระทรวงการคลังจึงมีหน้าที่ในภารกิจที่ยังค้างอยู่ของจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีนี้แทนจำเลยที่ 1 ได้ เห็นควรให้รับคำให้การฉบับลงวันที่ 18 สิงหาคม 2557 เป็นคำให้การของกระทรวงการคลังในนามของจำเลยที่ 1 ดังนั้น ที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับคำให้การที่กระทรวงการคลังยื่นในนามจำเลยที่ 1 และสั่งให้จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การจึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 อันจำเป็นต้องเพิกถอนกระบวนพิจารณา เพื่อให้มีการดำเนินกระบวนพิจารณาให้ถูกต้อง เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นอีกต่อไป
พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของศาลภาษีอากรกลางที่ให้เพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นคำให้การและคำสั่งรับคำให้การของจำเลยที่ 1 และเพิกถอนคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ โดยให้สั่งรับคำให้การฉบับลงวันที่ 18 สิงหาคม 2557 เป็นคำให้การของกระทรวงการคลังในนามของจำเลยที่ 1 แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ