คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1307/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในระหว่างที่โจทก์เจรจาตกลงกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพื่อขอซื้อที่ดินและบ้านพิพาทจนกระทั่งมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของจำเลยที่ 1 และทำสัญญาขายที่ดินและบ้านพิพาทนั้น ยังมิได้มีการประกาศคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 ในราชกิจจานุเบกษา แม้ศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในวันที่ 13 ธันวาคม 2544 ก็ตาม แต่ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 ได้รู้หรือควรจะรู้ว่าจำเลยที่ 1 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว จนกระทั่งมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 12 มีนาคม 2545 ซึ่งให้ถือว่าบุคคลทั่วไปต้องทราบคำสั่งเช่นนั้นแล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ดีเสียก่อนว่าจำเลยที่ 1 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วหรือไม่ ก่อนที่จะทำสัญญาขายนั้น โจทก์มีหน้าที่นำสืบในประเด็นดังกล่าวเพื่อให้ศาลรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่ออย่างไร และจำเลยที่ 2 ต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะทราบได้ว่าศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 3,100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ตามคำแถลงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า จำเลยที่ 1 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 2,165,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 19 มกราคม 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี (ที่ถูก ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี) โดยกำหนดค่าทนายความให้ 30,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความ 40,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้จำเลยที่ 2 ประเภทกู้เพื่ออยู่อาศัย โดยนำที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2109 ตำบลสันผักหวาน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นทรัพย์พิพาทคดีนี้ จำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้ ตามสัญญากู้เงินและสำเนาหนังสือสัญญาจำนองเป็นประกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับจำเลยที่ 2 เพื่อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทในราคา 1,100,000 บาท ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2545 จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาท ซึ่งเป็นบ้าน 1 หลังปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในราคา 1,100,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 รับเงินจำนวนดังกล่าวแล้วจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินและบ้านพิพาท ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายและสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ วันที่ 22 ตุลาคม 2547 สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่มีหนังสือแจ้งโจทก์ว่า ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 ในวันที่ 13 ธันวาคม 2544 โดยประกาศคำสั่งดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 12 มีนาคม 2545 จะต้องมีการเพิกถอนการโอนที่ดินและบ้านพิพาท ตามสำเนาหนังสือ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นผู้เริ่มตรวจสอบที่ดินและบ้านพิพาทจนทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์และจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ไว้กับจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 ให้พนักงานของจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายไปเสนอขายที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ก่อนแต่อย่างใด วันที่ 18 มกราคม 2545 จำเลยที่ 1 ขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับจำเลยที่ 2 ซึ่งคำขอระบุว่าลูกหนี้พาผู้สนใจซื้อหลักประกันมาเจรจาตกลงจะซื้อ ตามสำเนาหนังสือขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2545 จำเลยที่ 2 อนุมัติให้ขายที่ดินและบ้านพิพาทในราคา 1,100,000 บาท ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยโจทก์ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ซื้อในหนังสือรับรองการโอนอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ของสถาบันการเงินให้แก่ผู้อื่น ดังนั้น โจทก์จึงทราบขั้นตอนดังกล่าวเป็นอย่างดี และวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2545 โจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงทำสัญญาขายที่ดินและบ้านพิพาท โดยจำเลยที่ 2 รับเงินจำนวนดังกล่าวแล้วจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินและบ้านพิพาท แต่จำเลยที่ 1 ก็ยังคงมีหนี้ค้างชำระจำเลยที่ 2 จำนวน 1,280,286.64 บาท ตามหนังสือรับรองการโอนอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้สถาบันการเงินให้แก่ผู้อื่น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เช่นนี้ จึงเชื่อว่าโจทก์เจรจาตกลงขอซื้อที่ดินและบ้านพิพาทกับจำเลยที่ 1 ก่อนแล้วจึงพากันมาเจรจาตกลงกับจำเลยที่ 2 ขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของจำเลยที่ 1 เพื่อดำเนินการโอนขายที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ ในระหว่างที่โจทก์เจรจาตกลงกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพื่อขอซื้อที่ดินและบ้านพิพาทจนกระทั่งมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของจำเลยที่ 1 และทำสัญญาขายที่ดินและบ้านพิพาทนั้น ยังมิได้มีการประกาศคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 ในราชกิจจานุเบกษา แม้ศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ในวันที่ 13 ธันวาคม 2544 ก็ตาม แต่ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 ได้รู้หรือควรจะรู้ว่าจำเลยที่ 1 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว จนกระทั่งมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 12 มีนาคม 2545 ซึ่งให้ถือว่าบุคคลทั่วไปต้องทราบคำสั่งเช่นนั้นแล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ดีเสียก่อนว่าจำเลยที่ 1 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วหรือไม่ ก่อนที่จะมีการทำสัญญาขายนั้น โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบในประเด็นดังกล่าวเพื่อให้ศาลรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่ออย่างไร และจำเลยที่ 2 จะต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะได้ทราบว่าศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ทั้งข้อเท็จจริงในคดีปรากฏแต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 รู้ว่าตนถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 จึงมิได้เป็นฝ่ายกระทำละเมิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share