คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 439/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้พระราชบัญญัติทนายความพ.ศ.2528จะได้บัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการมรรยาททนายความไว้โดยเฉพาะแล้วแต่ก็มิได้บัญญัติห้ามศาลที่จะวินิจฉัยว่าทนายความผู้มีพฤติกรรมที่ขัดต่อมรรยาททนายความตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความพ.ศ.2529เป็นผู้ประพฤติผิดมรรยาททนายความเพื่อวินิจฉัยความรับผิดทางแพ่งในกรณีละเมิดการที่ศาลอุทธรณ์ภาค3เห็นว่าจำเลยทั้งสองประพฤติผิดข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความพ.ศ.2529หมวดข้อ3ข้อ12(1)ศาลอุทธรณ์ภาค3ก็มีอำนาจที่จะวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ไม่เป็นการก้าวล่วงอำนาจของคณะกรรมการมรรยาททนายความของสภาทนายความ แม้จำเลยทั้งสองจะเป็นลูกจ้างของบริษัทป. และรับเข้าเป็นทนายความแก้ต่างให้โจทก์ในคดีแพ่งในฐานะลูกจ้างของบริษัทบ.ก็ตามแต่การที่โจทก์ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความแต่งตั้งให้จำเลยทั้งสองเป็นทนายความแก้ต่างให้คดีแพ่งดังกล่าวโดยนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา60วรรคหนึ่งถือได้ว่าโจทก์ได้แต่งตั้งจำเลยทั้งสองเป็นทนายความว่าความให้แล้วจำเลยทั้งสองมีอำนาจว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแทนโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา62เมื่อจำเลยทั้งสองทอดทิ้งคดีของโจทก์ทำให้โจทก์ตกเป็นผู้แพ้คดีโดยความผิดของจำเลยทั้งสองโจทก์ก็มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายเอาจากจำเลยทั้งสองได้ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค3มีอำนาจวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองประพฤติผิดมรรยาททนายความฐานทอดทิ้งคดีทำให้โจทก์เสียหายการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์เมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายศาลอุทธรณ์ภาค3ก็ชอบที่จะพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ได้ไม่เป็นนอกฟ้องนอกประเด็น จำเลยทั้งสองตกลงรับเป็นทนายความของโจทก์ตามคำรับเป็นทนายความเมื่อจำเลยทั้งสองจงใจขาดนัดหรือทอดทิ้งคดีทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของโจทก์ผู้เป็นลูกความของจำเลยทั้งสองจำเลยทั้งสองต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์อยู่แล้วที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าการที่ศาลอุทธรณ์ภาค3วินิจฉัยว่าการทอดทิ้งคดีของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ไม่สามารถฟ้องไล่เบี้ยเอาจากบริษัทบ.ผู้รับประกันภัยได้เพราะบริษัทดังกล่าวได้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยไปแล้วโจทก์จึงได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสองโดยตรงเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบเพราะผู้เอาประกันภัยรถยนต์ในคดีแพ่งคือห้างหุ้นส่วนจำกัดว. ไม่ใช่โจทก์โจทก์จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับบริษัทบ.นั้นฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรจะได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่งเพราะไม่อาจทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1348/2531 ของศาลชั้นต้น โจทก์ได้ตกลงว่าจ้างให้จำเลยทั้งสองเป็นทนายความแก้ต่างให้ ซึ่งจำเลยทั้งสองจะต้องใช้ความรู้ความสามารถในการว่าความแก้ต่างให้โจทก์จนเสร็จสิ้นกระบวนพิจารณา แต่จำเลยทั้งสองหาได้กระทำเช่นนั้นไม่ คือเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2531 ศาลชั้นต้นได้นัดสืบพยานโจทก์คดีดังกล่าวจำเลยทั้งสองไม่ได้ไปว่าความตามหน้าที่ละทิ้งคดีโดยไม่มีเหตุสมควร จนศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีนั้นขาดนัดพิจารณาและต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นนัดสืบพยานจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2531 จำเลยทั้งสองก็ไม่ได้ไปว่าความตามกำหนดนัดอีก และไม่ได้แจ้งวันนัดให้โจทก์ทราบ อีกทั้งจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องเรียกบริษัทบัวหลวงประกันภัย จำกัดเข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีนั้น เนื่องจากรถยนต์คันเกิดเหตุได้เอาประกันวินาศภัยไว้กับบริษัทบัวหลวงประกันภัย จำกัด แต่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทนายความของบริษัทบัวหลวงประกันภัย จำกัด จงใจละเว้นไม่ยอมเรียกบริษัทบัวหลวงประกันภัย จำกัด เข้าเป็นจำเลยร่วมจนบริษัทบัวหลวงประกันภัย จำกัด หลุดพ้นความรับผิดชอบเป็นเหตุให้โจทก์ต้องชดใช้ค่าเสียหายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าว ทั้งที่บริษัทบัวหลวงประกันภัย จำกัด มีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้แทนโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้ศาลชั้นต้นตัดพยานจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวและพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน 52,860 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จพร้อมค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท แก่โจทก์ในคดีนั้นและศาลชั้นต้นบังคับโจทก์ในฐานะจำเลยที่ 2 คดีดังกล่าวให้ชดใช้ค่าเสียหายตามคำพิพากษา โจทก์ได้ชำระเงินตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไปรวม67,124.35 บาท การที่โจทก์ชดใช้เงินตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไปโดยที่ไม่มีหน้าที่จะต้องชำระเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสอง เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเท่ากับจำนวนเงินที่โจทก์ชำระไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำนวน 67,124.35 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 67,124.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2532จนถึงวันยื่นฟ้องเป็นเวลา 4 เดือน เป็นค่าดอกเบี้ย 1,678 บาทรวมเป็นเงินที่จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้แก่โจทก์ทั้งสิ้น68,802.35 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 67,124.35 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่เคยตกลงว่าจ้างจำเลยที่ 1 เป็นทนายความแก้ต่างให้ จำเลยที่ 1 เข้าเป็นทนายความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1348/2531 ของศาลชั้นต้น ในฐานะลูกจ้างของบริษัทบัวหลวงประกันภัย จำกัด ซึ่งต้องกระทำตามสัญญาจ้างและตามคำสั่งของบริษัทบัวหลวงประกันภัย จำกัด และผู้บังคับบัญชาหาได้กระทำเพื่อสินจ้างหรือค่าจ้างตามที่โจทก์อ้างไม่ จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นตัวแทนกระทำภายในขอบอำนาจของตัวการ โจทก์กับจำเลยที่ 1ไม่มีนิติสัมพันธ์ในลักษณะจ้างทำของ จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ในเบื้องต้นจำเลยที่ 1 ได้เข้าเป็นทนายความให้โจทก์ตามหน้าที่ในฐานะลูกจ้างของบริษัทบัวหลวงประกันภัย จำกัด แต่ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ลาออกจากบริษัทบัวหลวงประกันภัย จำกัดแล้ว จำเลยที่ 1 จึงพ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบ จำเลยที่ 2ในฐานะทนายความของบริษัทบัวหลวงประกันภัย จำกัด ได้เข้าเป็นทนายความรับผิดชอบแทนเหตุที่เกิดขึ้นจำเลยที่ 1 ไม่ทราบมาก่อนจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่และความรับผิดชอบ มิได้กระทำการใด ๆ ด้วยความประมาทเลินเล่อในวันนัดพิจารณาและสืบพยานจำเลยที่ 2 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่1348/2531 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ได้เข้าดำเนินกระบวนพิจารณาแล้ว ศาลชั้นต้นหาได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ขาดนัดพิจารณาตามที่โจทก์อ้างไม่ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ การที่จำเลยทั้งสองไม่เรียกบริษัทบัวหลวงประกันภัย จำกัด เข้าเป็นจำเลยร่วมหาใช่เพราะจำเลยทั้งสองละเลยต่อหน้าที่ไม่ แต่เนื่องจากโจทก์ไม่ใช่ผู้เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัย จึงไม่อาจเรียกบริษัทบัวหลวงประกันภัย จำกัด เข้าเป็นจำเลยร่วมได้ ที่โจทก์ต้องเสียหายต้องชดใช้ค่าเสียหายในคดีดังกล่าวเพราะลูกจ้างของโจทก์กระทำละเมิด และที่โจทก์อ้างว่าการกระทำของจำเลยที่ 1ทำให้บริษัทบัวหลวงประกันภัย จำกัด หลุดพ้นความรับผิดตามสัญญาประกันภัย ทำให้โจทก์เสียหาย ก็ไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้ฟ้องร้องเอาแก่บริษัทบัวหลวงประกันภัย จำกัด และไม่กระทำการใดเพื่อบรรเทาความเสียหาย ความเสียหายที่โจทก์ได้รับเกิดจากการกระทำของโจทก์เอง หาใช่เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า การที่จำเลยที่ 2 เป็นทนายความแก้ต่างให้โจทก์ในฐานะเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1348/2531ของศาลชั้นต้น เป็นการปฎิบัติการตามหน้าที่และคำสั่งของบริษัทบัวหลวงประกันภัย จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตลอดจนค่าเดินทางบริษัทบัวหลวงประกันภัย จำกัดนายจ้างของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกให้ทั้งสิ้นจำเลยที่ 2 หาได้กระทำเพื่อสินจ้างหรือค่าจ้างจากโจทก์ตามฟ้องไม่ จำเลยที่ 2 ได้ความว่าในฐานะเป็นตัวแทนของบริษัทบัวหลวงประกันภัย จำกัด ซึ่งเป็นตัวการดังนั้นในฐานะเป็นตัวแทนจึงไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใดจำเลยที่ 2 ไม่ได้มีเจตนาหรือประมาทเลินเล่อละทิ้งหน้าที่แต่อย่างใดจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างและรับเงินจากบริษัทบัวหลวงประกันภัย จำกัดจึงไม่อาจเรียกบริษัทดังกล่าวผู้เป็นนายจ้างเข้าเป็นจำเลยร่วมอันเป็นปฎิปักษ์ต่อรูปคดีได้ เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องเรียกบริษัทบัวหลวงประกันภัย จำกัด เข้าเป็นจำเลยร่วมเอง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้เงินจำนวน 67,124.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2532ถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2532 ต้องไม่เกิน 1,678 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลฎีกาสั่งรับเฉพาะฎีกาข้อ 1 และข้อ 3ถึงข้อ 5 ซึ่งเป็นข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อ 3 ถึงข้อ 5 เสียก่อน
ฎีกาข้อ 3 ของจำเลยทั้งสองที่ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองประพฤติผิดมรรยาททนายความทำให้โจทก์เสียหายเป็นการละเมิดต่อโจทก์เป็นข้อวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะผู้ที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองประพฤติผิดมรรยาททนายความหรือไม่ เป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของคณะกรรมการมรรยาททนายความของสภาทนายความตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของศาลอุทธรณ์ภาค 3 นั้น เห็นว่าแม้พระราชบัญญัติทนายความพ.ศ. 2528 จะได้บัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการมรรยาททนายความไว้โดยเฉพาะแล้วในหมวด 7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ตามแต่พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 ก็มิได้บัญญัติห้ามศาลที่จะวินิจฉัยว่าทนายความผู้มีพฤติกรรมที่ขัดต่อมรรยาททนายความตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 เป็นผู้ประพฤติผิดมรรยาททนายความ เพื่อวินิจฉัยความรับผิดทางแพ่งในกรณีละเมิด เมื่อเป็นเช่นนี้การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่าจำเลยทั้งสองประพฤติผิดข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความพ.ศ. 2529 หมวด 3 ข้อ 12(1) คือ จงใจขาดนัดหรือทอดทิ้งคดีทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของโจทก์ผู้เป็นลูกความของจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็มีอำนาจที่จะวินิจฉัยว่าการกระทำต่อจำเลยทั้งสองเป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายได้ข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้เป็นการก้าวล่วงอำนาจของคณะกรรมการมรรยาททนายความของสภาทนายความดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา
ฎีกาข้อ 4 ของจำเลยทั้งสองที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง เพราะจำเลยทั้งสองไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ การที่จำเลยทั้งสองรับเป็นทนายความแก้ต่างให้แก่โจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1348/2531 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์ถูกโจทก์ในคดีนั้นฟ้องเป็นจำเลยที่ 2 ก็เนื่องมาจากจำเลยทั้งสองต้องปฎิบัติหน้าที่ในฐานะลูกจ้างของบริษัทบัวหลวงประกันภัย จำกัด ผู้เป็นนายจ้างของจำเลยทั้งสองเพียงอย่างเดียว โดยที่จำเลยทั้งสองมิได้รับจ้างว่าความให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า แม้จำเลยทั้งสองจะเป็นลูกจ้างของบริษัทบัวหลวงประกันภัย จำกัด และรับเข้าเป็นทนายความแก้ต่างให้โจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1348/2531 ของศาลชั้นต้น ในฐานะลูกจ้างของบริษัทดังกล่าวก็ตาม แต่การที่โจทก์ได้ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2531 และวันที่ 5 กันยายน2531 แต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นทนายความแก้ต่างให้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1348/2531 ของศาลชั้นต้น โดยนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 วรรคหนึ่ง ถือว่าโจทก์ได้แต่งตั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นทนายความว่าความให้แล้วตามลำดับ จำเลยทั้งสองมีอำนาจว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1348/2531 ของศาลชั้นต้นแทนโจทก์ได้ตามความที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 62 ดังนั้นเมื่อจำเลยทั้งสองทอดทิ้งคดีของโจทก์ ทำให้โจทก์ตกเป็นผู้แพ้คดีโดยความผิดของจำเลยทั้งสอง โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายเอาจากจำเลยทั้งสองได้
ฎีกาข้อ 5 ของจำเลยทั้งสองในเรื่องค่าเสียหายที่ว่า เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่มีอำนาจวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองประพฤติผิดมรรยาททนายความข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น ที่ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นการไม่ชอบด้วยนั้น เห็นว่า เมื่อฟังว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองประพฤติผิดมรรยาททนายความฐานทอดทิ้งคดีทำให้โจทก์เสียหายดังที่ได้วินิจฉัยแล้วก็นับได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดต่อโจทก์ เมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็ชอบที่จะพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ได้
สำหรับฎีกาข้อ 1 ของจำเลยทั้งสองที่ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3วินิจฉัยว่า การทอดทิ้งคดีของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ไม่สามารถฟ้องไล่เบี้ยเอาจากบริษัทบัวหลวงประกันภัย จำกัด ผู้รับประกันภัยได้ เพราะบริษัทดังกล่าวได้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยไปแล้ว โจทก์จึงได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสองโดยตรงเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบ เพราะผู้เอาประกันภัยรถยนต์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1348/2531 ของศาลชั้นต้น คือห้างหุ้นส่วนจำกัดวณิชย์ก่อสร้าง ไม่ใช่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับบริษัทบัวหลวงประกันภัย จำกัด นั้น เห็นว่าจำเลยทั้งสองตกลงรับเป็นทนายความของโจทก์ตามคำรับเป็นทนายความเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 และ 3 ดังนั้น จำเลยทั้งสองต้องปฎิบัติหน้าที่ของทนายความให้สมบูรณ์ตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองจงใจขาดนัดหรือทอดทิ้งคดีทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของโจทก์ผู้เป็นลูกความของจำเลยทั้งสองตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์อยู่แล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรจะได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง เพราะไม่อาจทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share