คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9610-9623/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสิบสี่และคนงานอื่นรวม190คนผละงานประท้วงเมื่อวันที่21กรกฎาคม2538เวลาประมาณ8นาฬิกาซึ่งเป็นวันทำงานโดยไม่แจ้งข้อเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเป็นหนังสือและไม่มีรายชื่อและลายมือชื่อของลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องจึงไม่เป็นการแจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518มาตรา13พฤติการณ์เป็นการร่วมกันนัดหยุดงานโดยไม่ชอบแม้ต่อมาตัวแทนลูกจ้างและนายจ้างจะตกลงกันได้โดยนายจ้างไม่ถือว่าการผละงานประท้วงของลูกจ้างเป็นความผิดก็ตามแต่ตามบันทึกที่ทำขึ้นมีข้อความชัดเจนว่านายจ้างไม่ถือว่าการผละงานประท้วงเป็นความผิดเฉพาะลูกจ้างที่ลงชื่อขอโทษและรับว่าจะไม่ผละงานอีกเท่านั้นข้อตกลงดังกล่าวจะเห็นได้ว่าจำเลยยอมยกเว้นไม่ถือว่าการหยุดงานเป็นความผิดต่อเมื่อลูกจ้างลงชื่อขอโทษและยอมรับว่าจะไม่ผละงานประท้วงอีกเสียก่อนจึงเป็นข้อตกลงที่มีเงื่อนไขว่าลูกจ้างต้องลงชื่อขอโทษและยอมรับว่าจะไม่ผละงานประท้วงอีกเสียก่อนจึงจะถือว่าการผละงานประท้วงของลูกจ้างไม่เป็นความผิดหาใช่เป็นเรื่องบังคับให้ลูกจ้างต้องลงลายมือชื่อขอโทษแต่ประการใดไม่ดังนั้นเมื่อโจทก์ทั้งสิบสี่ได้ร่วมกันนัดหยุดงานโดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ได้ลงลายมือชื่อยอมรับผิดและรับว่าจะไม่กระทำเช่นนั้นอีกจึงไม่เป็นการปฏิบัติตามเงื่อนไขในบันทึกข้อตกลงและการหยุดงานของโจทก์ทั้งสิบสี่เป็นการละเมิดต่อจำเลยจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยข้อ10.4เมื่อโจทก์ทั้งสิบสี่นัดหยุดงานโดยไม่ชอบและจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสิบสี่กลับเข้าทำงานแต่โจทก์ทั้งสิบสี่ไม่กลับเข้าทำงานตามคำสั่งจำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสี่ได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา583และโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ47(3)(4)โจทก์ทั้งสิบสี่จึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย โจทก์ทั้งสิบสี่อุทธรณ์ว่าการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสี่ในวันที่21กรกฎาคม2538เวลา18นาฬิกาเป็นการเลิกจ้างเมื่อโจทก์ทั้งสิบสี่กลับบ้านไปแล้วจึงเป็นการประกาศเลิกจ้างนอกเวลาทำงานเป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522มาตรา54วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

คดีทั้งสิบสี่สำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 14 และเรียกจำเลยทุกสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งสิบสี่สำนวนฟ้องมีใจความทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งสิบสี่เป็นลูกจ้างจำเลย ต่อมาวันที่ 21 กรกฎาคม 2538จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสี่โดยไม่มีความผิดและมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสิบสี่ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างเนื่องจากโจทก์ทั้งสิบสี่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับทำงานอย่างร้ายแรง โดยเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2538 โจทก์ทั้งสิบสี่กับพวกจำนวน 177 คนได้นัดชุมนุมผละงานอย่างกะทันหันโดยมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย จำเลยมีประกาศแจ้งให้โจทก์ทั้งสิบสี่กับพวกกลับเข้าทำงานพนักงานของจำเลยได้กลับเข้าทำงาน ยกเว้นโจทก์ทั้งสิบสี่การกระทำดังกล่าวทำให้จำเลยเสียหายไม่สามารถผลิตสินค้าส่งไปยังลูกค้าในต่างประเทศได้ทันตามกำหนด ทำให้ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง ขาดประโยชน์จากรายได้เป็นเงินจำนวนมาก เป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสี่จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหายตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสิบสี่นัดหยุดงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ยอมกลับเข้าปฏิบัติงานตามคำสั่งย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดร้ายแรง อีกทั้งเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ทั้งสิบสี่จึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ ทั้ง สิบ สี่ สำนวน อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่าวันที่ 21 กรกฎาคม 2538 เวลาประมาณ 8 นาฬิกา ซึ่งเป็นวันทำงานโจทก์ทั้งสิบสี่และคนงานอื่นรวม 190 คน ผละงานประท้วงวันที่21 กรกฎาคม 2538 เวลาประมาณ 8 นาฬิกา ซึ่งเป็นวันทำงานโดยไม่แจ้งข้อเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเป็นหนังสือและไม่มีรายชื่อและลายมือชื่อของลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง จึงไม่เป็นการแจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 13 พฤติการณ์เป็นการร่วมกันนัดหยุดงานโดยไม่ชอบ แม้ต่อมาตัวแทนลูกจ้างและนายจ้างจะตกลงกันได้โดยนายจ้างไม่ถือว่าการผละงานประท้วงของลูกจ้างเป็นความผิดก็ตาม แต่ตามบันทึกที่ทำขึ้นตามเอกสารหมาย ล.4มีข้อความชัดเจนว่า นายจ้างไม่ถือว่าการผละงานประท้วงเป็นความผิดเฉพาะลูกจ้างที่ลงชื่อขอโทษและรับว่าจะไม่ผละงานอีกเท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวจะเห็นได้ว่าจำเลยยอมยกเว้นไม่ถือว่าการหยุดงานเป็นความผิดต่อเมื่อลูกจ้างลงชื่อขอโทษและยอมรับว่าจะไม่ผละงานประท้วงอีกเสียก่อน จึงเป็นข้อตกลงที่มีเงื่อนไขว่าลูกจ้างต้องลงชื่อขอโทษและยอมรับว่าจะไม่ผละงานประท้วงอีกเสียก่อน จึงจะถือว่าการผละงานประท้วงของลูกจ้างไม่เป็นความผิด หาใช่เป็นเรื่องบังคับให้ลูกจ้างต้องลงลายมือชื่อขอโทษแต่ประการใดไม่ เมื่อโจทก์ทั้งสิบสี่ได้ร่วมกันนัดหยุดงานโดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ได้ลงลายมือชื่อยอมรับผิดและรับว่าจะไม่กระทำเช่นนั้นอีก จึงไม่เป็นการปฏิบัติตามเงื่อนไขในบันทึกข้อตกลง การหยุดงานของโจทก์ทั้งสิบสี่เป็นการละเมิดต่อจำเลยจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยข้อ 10.4 เมื่อโจทก์ทั้งสิบสี่นัดหยุดงานโดยไม่ชอบ และจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสิบสี่กลับเข้าทำงานแต่โจทก์ทั้งสิบสี่ไม่กลับเข้าทำงานตามคำสั่ง จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3)(4)โจทก์ทั้งสิบสี่จึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย
ปัญหาที่โจทก์ทั้งสิบสี่อุทธรณ์ว่า การเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสี่ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2538 เวลาหลัง 17 นาฬิกา เป็นการเลิกจ้างเมื่อโจทก์ทั้งสิบสี่กลับบ้านไปแล้ว จึงเป็นการประกาศเลิกจ้างนอกเวลาทำงาน เป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน

Share