แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง วางหลักเกณฑ์ในการพิจารณาลดเบี้ยปรับของศาลว่าให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน กล่าวคือ จากการที่โจทก์และจำเลยทำการซื้อขายสินค้ากันตามสัญญาซื้อขายนั้นและจำเลยส่งมอบสินค้าไม่ตรงตามสัญญา ซึ่งส่งผลให้โจทก์เกิดความเสียหายจากการส่งมอบสินค้าของจำเลย ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือโจทก์และจำเลยทำการซื้อขายสินค้ากัน แต่สินค้าไม่ตรงตามสัญญา จำเลยจึงมารับคืนสินค้าไปจากโจทก์ ความเสียหายที่โจทก์อ้างว่าจำเลยส่งมอบสินค้าไม่ได้ ทำให้มหาวิทยาลัยขาดอุปกรณ์ในการเรียนการสอนทำให้นักศึกษาที่จบมาด้วยคุณภาพนั้นเป็นความเสียหายที่ไกลเกินความเป็นจริง และการที่โจทก์ทำการบอกเลิกสัญญากับจำเลยเมื่อเวลาได้ล่วงเลยมานานปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปเกือบสองปี แล้วเรียกค่าปรับจำนวน 336,801 บาทนั้น เห็นได้ชัดว่าจำนวนเงินดังกล่าวสูงกว่าราคาสินค้าตามสัญญาที่มีราคาเพียง 257,500 บาท จึงเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง สมควรที่ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 323,935 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 55,795 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2545 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2542 โจทก์ทำสัญญาซื้อเครื่องบันทึกและถอดข้อความยี่ห้อโอลิมปัส รุ่นดีที 2000 ระบบ 3 หัวเทป จำนวน 10 เครื่อง ราคา 257,500 บาท ตามใบเสนอราคาและแบบสัญญาซื้อขายกำหนดส่งมอบภายในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2542 โดยจำเลยนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) วงเงิน 12,875 บาท มาวางเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา มีข้อตกลงว่าหากผู้ขายไม่ปฏิบัติตามสัญญาผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบเงินประกันกับเรียกร้องค่าปรับรายวันอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาสินค้าที่ไม่ได้ส่งมอบนับแต่วันครบกำหนดส่งมอบจนถึงวันบอกเลิกสัญญา จำเลยส่งมอบสินค้าให้โจทก์ภายในกำหนดแต่ไม่ถูกต้องตามคุณลักษณะเฉพาะของครุภัณฑ์ที่กำหนดในสัญญา กล่าวคือมิใช่ระบบ 3 หัวเทป แต่เป็นระบบ 2 หัวเทป คณะกรรมการตรวจรับจึงไม่รับมอบสินค้า วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2543 ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคพังงามีหนังสือแจ้งให้จำเลยดำเนินการส่งสินค้าให้ถูกต้องและวันที่ 23 มีนาคม 2543 มีหนังสือแจ้งสงวนสิทธิที่จะปรับกรณีส่งของล่าช้าในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาของเป็นรายวันนับแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2542 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดส่งของตามสัญญา ต่อมาวันที่ 27 เมษายน 2543 จำเลยมีหนังสือมาขอรับของคืนแล้วไม่ติดต่อกับโจทก์อีก วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคพังงามีหนังสือแจ้งให้จำเลยรีบดำเนินการส่งของให้ถูกต้องโดยด่วนมิฉะนั้นจะถือว่าไม่ปฏิบัติตามสัญญา จำเลยก็ยังเพิกเฉย วันที่ 11 กรกฎาคม 2544 ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคพังงาจึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยส่งของพร้อมนำเงินค่าปรับมาชำระภายใน 7 วัน นับแต่วันรับหนังสือ มิฉะนั้นจะเสนอให้โจทก์บอกเลิกสัญญา จำเลยได้รับหนังสือแล้วเพิกเฉย วันที่ 5 กันยายน 2544 โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและหนังสือเรียกให้ชำระเงินค่าปรับเอกสารหมาย จ.13 และ จ.14 ตามลำดับไปยังจำเลย จำเลยได้รับหนังสือแล้วเพิกเฉย ในที่สุดโจทก์ต้องเรียกเงินประกันการปฏิบัติตามสัญญา 12,875 บาท จากธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) มาชำระเป็นส่วนหนึ่งของค่าปรับ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประเด็นเดียวว่า โจทก์สมควรได้รับค่าปรับเต็มตามฟ้องหรือไม่… เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง จะวางหลักเกณฑ์ในการพิจารณาลดเบี้ยปรับของศาลว่าให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินก็ตาม แต่โจทก์ก็ต้องนำสืบให้ฟังได้ว่าทางได้เสียที่ไม่ใช่ทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินนั้นเป็นผลโดยตรงจากการไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องของจำเลยอย่างไร กล่าวคือจากการที่จำเลยไม่สามารถส่งมอบของตามสัญญาให้โจทก์ได้นั้น ส่งผลให้เกิดความเสียหายซึ่งคำนวณเป็นตัวเงินไม่ได้แก่โจทก์อย่างไร สำหรับความเสียโอกาสในการฝึกฝนทักษะของนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคพังงาจากเครื่องอุปกรณ์ที่จำเลยไม่สามารถส่งมอบได้ ซึ่งโจทก์ฎีกาว่ามีผลต่อคุณภาพของนักศึกษาเมื่อสำเร็จการศึกษาออกไปนั้น เห็นว่า จากทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความว่าทักษะที่จะเกิดจากการฝึกฝนใช้เครื่องบันทึกและถอดข้อความที่จำเลยไม่สามารถส่งมอบได้เป็นทักษะในด้านใดและการขาดทักษะเช่นว่านั้นมีผลทำให้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาออกไปด้อยคุณภาพอย่างไร ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า ความด้อยคุณภาพของนักศึกษาที่จบออกไปน่าจะเกิดจากเหตุปัจจัยหลายประการ มิใช่เกิดจากการไม่ได้ฝึกฝนเครื่องบันทึกและถอดข้อความที่จำเลยไม่ได้ส่งมอบเป็นสำคัญ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่าความเสียหายที่โจทก์อ้างดังกล่าวเป็นความเสียหายที่กว้างไกลเกินไปจึงชอบแล้ว ในส่วนความล่าช้าของการบอกเลิกสัญญาที่โจทก์ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปเกือบสองปีนั้น แม้จะฟังว่าโจทก์ได้ให้โอกาสจำเลยที่จะนำสินค้ามาส่งมอบให้ถูกต้องตามที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่เมื่อจำเลยไม่ติดต่อกับวิทยาลัยเทคนิคพังงาอีกเลยหลังจากรับสินค้าคืนไปเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2543 โจทก์ก็ควรอนุมานได้แล้วว่าจำเลยอาจจะไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้และควรพิจารณาบอกเลิกสัญญาเสียแต่เนิ่น ๆ มิใช่รอเวลาไปอีกถึงหนึ่งปีเศษจึงได้บอกเลิกสัญญาในวันที่ 5 กันยายน 2544 ตามหนังสือเอกสารหมาย จ.13 ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า เวลาที่ล่วงเลยไปเป็นเวลาที่จำเลยไม่สมควรจะต้องเสียค่าปรับจึงถูกต้องแล้ว สำหรับค่าปรับที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์สมควรเรียกได้ 336,810 บาท ตามขอนั้น เห็นได้ชัดว่าจำนวนเงินดังกล่าวสูงกว่าราคาสินค้าตามสัญญาที่มีราคาเพียง 257,500 บาท จึงเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง สมควรที่ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ซึ่งที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าปรับให้วันละ 105 บาท เป็นเงิน 68,670 บาท หรือเท่ากับร้อยละ 26.67 ของราคาสินค้าที่จำเลยต้องส่งมอบนั้นนับว่าเป็นจำนวนเงินที่เหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้มีทุนทรัพย์ชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา 288,811.48 บาท ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นศาลละ 7,220 บาท แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลจากทุนทรัพย์ 293,146.74 บาท เป็นเงินชั้นศาลละ 7,327.50 บาท เกินมาชั้นศาลละ 107.50 บาท จึงต้องคืนส่วนที่เกินให้แก่โจทก์”
พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และฎีกาชั้นศาลละ 107.50 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ