แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คำร้องของจำเลยที่ 2 ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ส่งประกาศแจ้งวันขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 2 ทราบ การขายทอดตลาดจึงไม่ชอบนั้น เป็นการกล่าวอ้างว่าการขายทอดตลาดฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง คำร้องของจำเลยที่ 2 จึงอยู่ในบังคับมาตรา 296 วรรคสอง ที่บัญญัติให้ยื่นคำร้องต่อศาลภายในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวและเสนอบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน รายงานต่อศาลเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2546 ว่า ได้จัดทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงินและจ่ายเงินให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียในคดีไปแล้ว การบังคับคดีจึงเสร็จสิ้นลงตามมาตรา 296 วรรคสี่ (2) การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องคดีนี้ในวันที่ 13 ธันวาคม 2550 จึงพ้นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามมาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 187,009.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 3578 ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และต่อมาวันที่ 27 ตุลาคม 2545 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ไปในราคา 54,000 บาท และจ่ายเงินให้แก่โจทก์แล้ว หลังจากนั้นวันที่ 15 พฤศจิกายน 2550 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 22177 ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อีก
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันทราบเป็นการไม่ชอบ ทำให้จำเลยที่ 2 เสียหาย เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่มีอำนาจยึดที่ดินของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดอีก ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 3578 ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ของจำเลยที่ 1 และขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์ที่ดินโฉนดเลขที่ 22177 ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ของจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คำร้องของจำเลยที่ 2 ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 3578 ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ของจำเลยที่ 1 โดยอ้างว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ส่งประกาศแจ้งวันขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 2 ทราบ การขายทอดตลาดจึงไม่ชอบนั้น เป็นการกล่าวอ้างว่าการขายทอดตลาดฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 306 วรรคหนึ่ง คำร้องของจำเลยที่ 2 จึงอยู่ในบังคับมาตรา 296 วรรคสอง ที่บัญญัติให้ยื่นคำร้องต่อศาลภายในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวและเสนอบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน รายงานต่อศาลเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2546 ว่า ได้จัดทำบัญชีแสดงรายการรับจ่าย – เงิน และจ่ายเงินให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียในคดีไปแล้ว การบังคับคดีจึงเสร็จสิ้นลงตามมาตรา 296 วรรคสี่ (2) การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องคดีนี้ในวันที่ 13 ธันวาคม 2550 จึงพ้นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามมาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 คดีจึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยฎีกาจำเลยที่ 2 ที่ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องแจ้งประกาศวันขายทอดตลาดให้ทราบหรือไม่อีกต่อไป
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์ที่ดินโฉนดเลขที่ 22177 ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ของจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 เพียงแต่อ้างในฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ศาลชั้นต้นต้องรับคำร้องของจำเลยที่ 2 และนัดไต่สวนให้เท่านั้น โดยไม่ได้ยกเหตุผลโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ว่า ไม่ถูกต้องอย่างไร ที่ถูกต้องควรเป็นเช่นไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ