คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10209/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 271 ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษามิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาทั้งหมดหรือบางส่วน เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษานั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาโดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษานั้น มาตรา 275 บัญญัติว่า ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะขอให้บังคับคดีให้ยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลเพื่อให้ออกหมายบังคับคดี และมาตรา 276 ก็บัญญัติไว้เพียงว่าถ้าศาลเห็นว่าคำบังคับที่ขอให้บังคับนั้นได้ส่งให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและระยะเวลาที่ศาลกำหนดไว้เพื่อให้ปฏิบัติตามคำบังคับนั้นได้ล่วงพ้นไปแล้ว ให้ศาลออกหมายบังคับคดีได้ทันที ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวหาได้มีข้อจำกัดว่าจะต้องส่งคำบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาทุกคนก่อน ศาลจึงจะออกหมายบังคับคดีได้ และเมื่อพิจารณาคำขอออกหมายบังคับคดีของโจทก์ก็ปรากฏว่ามีข้อความกล่าวถึงคำพิพากษาที่จะขอให้มีการบังคับคดี รวมถึงวิธีการบังคับคดี และได้ระบุไว้แล้วว่า “จำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ชำระหนี้ให้โจทก์แต่ประการใด” อันแสดงว่าในขณะที่โจทก์ขอออกหมายบังคับคดียังมีหนี้ค้างชำระอยู่เต็มจำนวนตามคำพิพากษา ถือได้ว่าคำขอของโจทก์ได้ระบุจำนวนหนี้ที่ยังมิได้ชำระตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 (2) แล้ว คำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ที่ให้ออกหมายบังคับคดีตามคำขอของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย
การขอทุเลาการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 ต้องเป็นกรณีที่ยังไม่มีการบังคับคดีตามคำพิพากษา แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำร้องขอให้งดการบังคับคดีและคำร้องขอให้เพิกถอนการอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2 ว่า ขณะที่ยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 แล้ว การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องดังกล่าวเข้ามา จึงถือได้ว่าเป็นการขอให้งดการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 (2) ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศที่จะมีคำสั่งว่าสมควรให้งดการบังคับคดีหรือไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศสั่งยกคำร้องฉบับนี้ของจำเลยที่ 2 โดยไม่ได้ส่งคำร้องให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาสั่งจึงชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดหรืออายัดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องเงินฝาก 40,902,214 บาท ของจำเลยที่ 2 ตามบัญชีเลขที่ 101-6-xxx ต่อธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเพิกถอนหมายบังคับคดีและยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดี นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการอายัดสิทธิเรียกร้องเงินฝากในบัญชีธนาคารดังกล่าวด้วย ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งยกคำร้องข้างต้นทุกฉบับ
จำเลยที่ 2 ที่ 3 อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ฉบับลงวันที่ 17 ธันวาคม 2551 ว่า มีเหตุที่จะเพิกถอนหมายบังคับคดีหรือไม่ จำเลยที่ 2 ที่ 3 อุทธรณ์ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้ออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในขณะที่ยังส่งคำบังคับให้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ และในคำขอของโจทก์ที่ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีดังกล่าวไม่ได้ระบุว่ามีหนี้ค้างชำระตามคำพิพากษาที่จะต้องบังคับคดีจำนวนเท่าใด คำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ให้ออกหมายบังคับคดีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษามิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาทั้งหมดหรือบางส่วน เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษานั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาโดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษานั้น มาตรา 275 บัญญัติว่า ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะขอให้บังคับคดีให้ยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลเพื่อให้ออกหมายบังคับคดี และมาตรา 276 ก็บัญญัติไว้เพียงว่า ถ้าศาลเห็นว่าคำบังคับที่ขอให้บังคับนั้นได้ส่งให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและระยะเวลาที่ศาลกำหนดไว้เพื่อให้ปฏิบัติตามคำบังคับนั้นได้ล่วงพ้นไปแล้ว ให้ศาลออกหมายบังคับคดีได้ทันที ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวหาได้มีข้อจำกัดว่าจะต้องส่งคำบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาทุกคนก่อน ศาลจึงจะออกหมายบังคับคดีได้และเมื่อพิจารณาคำขอออกหมายบังคับคดีของโจทก์ก็ปรากฏว่ามีข้อความกล่าวถึงคำพิพากษาที่จะขอให้มีการบังคับคดี รวมถึงวิธีการบังคับคดี และได้ระบุไว้แล้วว่า “จำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ชำระหนี้ให้โจทก์แต่ประการใด” อันแสดงว่าในขณะที่โจทก์ขอออกหมายบังคับคดียังมีหนี้ค้างชำระอยู่เต็มจำนวนตามคำพิพากษา ถือได้ว่าคำขอของโจทก์ได้ระบุจำนวนหนี้ที่ยังมิได้รับชำระตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 275 (2) แล้ว คำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ให้ออกหมายบังคับคดีตามคำขอของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุจะเพิกถอนหมายบังคับคดีดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ฉบับนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อมาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 16 มกราคม 2552 ว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งยกคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีของจำเลยที่ 2 โดยไม่ส่งคำร้องดังกล่าวให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาสั่งนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งยกคำร้องที่ขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีของจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว พร้อมกับยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีในระหว่างอุทธรณ์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะต้องสั่งรับคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีไว้แล้วส่งไปยังศาลฎีกาเพื่อให้มีคำสั่งต่อไป การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งยกคำร้องฉบับนี้โดยอ้างว่าเป็นการขอให้งดการบังคับคดีนั้น ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 231 เห็นว่า การขอทุเลาการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 231 ต้องเป็นกรณีที่ยังไม่มีการบังคับคดีตามคำพิพากษา เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำร้องขอให้งดการบังคับคดี ฉบับลงวันที่ 17 ธันวาคม 2551 และคำร้องขอให้เพิกถอนการอายัดสิทธิเรียกร้อง ฉบับลงวันที่ 9 ธันวาคม 2551 และคำร้องขอให้เพิกถอนการอายัดสิทธิเรียกร้อง ฉบับลงวันที่ 9 ธันวาคม 2551 ของจำเลยที่ 2 เองว่า ขณะที่ยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 แล้ว การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องดังกล่าวเข้ามา จึงถือได้ว่าเป็นการของให้งดการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 292 (2) ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่จะมีคำสั่งว่าสมควรให้งดการบังคับคดีหรือไม่ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งยกคำร้องฉบับนี้ของจำเลยที่ 2 โดยไม่ได้ส่งคำร้องให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาสั่งจึงชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว อุทธรณ์ฉบับนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 2 มีนาคม 2552 ว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ที่ขอให้เพิกถอนการอายัดสิทธิเรียกร้องโดยไม่ทำการไต่สวนก่อนนั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศตอนท้ายระบุไว้ว่า “แต่ทั้งนี้หากในชั้นบังคับคดีปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้เพิ่มหรือมากกว่าจำนวนที่ได้พิพากษาให้หักหนี้ไว้แล้ว ก็ให้บังคับคดีได้เพียงจำนวนที่เหลือหลังจากนำจำนวนเงินชำระหนี้เพิ่มเติมที่ปรากฏขึ้นนั้นมาหักชำระหนี้ดอกเบี้ยและหรือต้นเงินตามวิธีการเช่นเดียวกับที่พิพากษาให้หักหนี้ไว้แล้ว” ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่าได้มีการชำระหนี้ให้แก่โจทก์มากกว่าจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว โจทก์ไม่อาจขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องเงินฝากในบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 284 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงชอบที่จะไต่สวนคำร้องก่อนนั้น เห็นว่า แม้คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจะระบุว่า “แต่ทั้งนี้หากในชั้นบังคับคดีปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้เพิ่มหรือมากกว่าจำนวนที่ได้พิพากษาให้หักหนี้ไว้แล้ว ก็ให้บังคับคดีได้เพียงจำนวนหนี้ที่เหลือหลังจากนำจำนวนเงินชำระหนี้เพิ่มเติมที่ปรากฏขึ้นนั้นมาหักชำระหนี้ดอกเบี้ยและหรือต้นเงินตามวิธีการเช่นเดียวกับที่พิพากษาให้หักหนี้ไว้แล้ว” ดังที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างในอุทธรณ์แต่คำพิพากษาส่วนนั้นก็เป็นเพียงการกำหนดเงื่อนไขในการบังคับชำระหนี้แก่จำเลยให้ชัดเจนว่าในกรณีที่โจทก์ได้รับชำระหนี้เพิ่มหรือมากกว่าจำนวนที่ศาลได้พิพากษาให้หักหนี้ไว้แล้ว ให้บังคับชำระหนี้ได้เพียงจำนวนหนี้ที่เหลืออยู่หลังจากหักชำระดอกเบี้ยและหรือต้นเงินแล้ว กรณีเช่นนี้หากจำเลยยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษานั้น โจทก์และจำเลยก็ต้องคิดคำนวณหนี้ตามเงื่อนไขที่กำหนดในคำพิพากษา หรือหากจำเลยบิดพลิ้วและโจทก์ต้องขอให้ศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ต้องคิดคำนวณหนี้ตามนั้นเช่นกัน หากเจ้าพนักงานบังคับคดีละเว้นเสีย ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการบังคับชำระหนี้ตามที่ศาลกำหนดไว้ในคำพิพากษาจึงอาจถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ถูกโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 และสามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยปัญหาในชั้นบังคับคดีอีกทอดหนึ่งจำเลยที่ 2 จะด่วนยื่นคำร้องขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยก่อนที่ปัญหาจะเกิดมิได้ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยกคำร้องของจำเลยที่ 2 โดยไม่ทำการไต่สวน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฉบับนี้จึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share