แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์วันที่ 12 พฤษภาคม 2491 โจทก์ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2491 จึงยังอยู่ในกำหนดที่โจทก์จะยื่นฎีกาได้
การฆ่าสุกรก่อน วันที่ระบุไว้ในใบอนุญาต ต้องมีความผิดตาม พ.ร.บ.อากรฆ่าสัตว์ 2488 มาตรา 12. ไม่ใช่มาตรา 11
ว.จำเลยเป็นพนักงานเทศบาลประจำโรงฆ่าสัตว์ของเทศบาล ไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับออกใบอนุญาตให้ฆ่าสัตว์แต่อย่างใด ว.จำเลยได้แก้วันที่ในใบอนุญาต โดย จ.จำเลยเทศมนตรีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสั่งให้แก้ ดังนี้ ถือได้ว่า ว.จำเลยได้ทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ซึ่งตนอยู่ในบังคับบัญชา โดยเชื่อว่าเป็นการชอบและมีเหตุผลอันสมควร ไม่ควรรับอาญา ตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา 52 (2).
ย่อยาว
คดี ๓ สำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน สำนวนแรกโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฆ่าสุกรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยฆ่าสุกรตามคำสั่งของนายพยูร เจ้าของสุกรว่าได้รับอนุญาตให้ฆ่าโดยถูกต้องแล้ว สำนวนที่ ๒ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานปลอมใบอนุญาตฆ่าสุกรของเทศบาลเมืองพระประแดง สำนวนที่ ๓ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานปลอมใบอนุญาตฆ่าสุกรของเทศบาลพระประแดง และกระทำพะยานเท็จ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยในสำนวนที่ ๑ มีผิดตามฟ้อง ให้ปรับคนละ ๕๘๐ บาท เพิ่มโทษนายเจ็งอี่ นายอั๋น นายกุ่ย จำเลย คงปรับคนละ ๗๗๓ บาท ๓๓ สตางค์ นายแจ่มจำเลยมีผิดตามมาตรา ๒๓๐ อีกกะทงหนึ่ง ให้รวมกะทงโทษจำคุกนายแจ่ม นายวรวุธ นายใหญ่ นายสุมนต์คนละ ๕ ปี นายพยูรจำลยให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยในคดีแรกกับนายวรวุธจำเลยในสำนวนที่ ๒ ไม่มีความผิด
โจทก์ฎีกา, นายแจ่ม นายใหญ่ นายสุมนต์ จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาจำเลยต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง
คดีนี้ จำเลยฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๔๙๑ โจทก์ยื่นฎีกาวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๔๙๑ จึงอยู่ในกำหนดที่โจทก์จะยื่นฎีกาได้
สำหรับคดีแรกที่นายทงจั๋วกับพวกเป็นจำเลยนั้น โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสมคบกันฆ่าสุกรก่อนวันที่ระบุไว้ในใบอนุญาต จำเลยแก้ว่า จำเลยฆ่าสุกรรายนี้ตามคำสั่งของนายพยูรเจ้าของสุกร ซึ่งอ้างว่า ได้รับอนุญาตถูกต้องแล้ว ข้อเท็จจริงคงฟังได้ว่า ใบอนุญาตฆ่าสุกรมีการแก้วันที่ขึ้นภายหลัง เกิดจากการคบคิดที่กระทำขึ้นโดยมิชอบ ส่อให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้กระทำโดยสุจริต หรือเข้าใจผิดแต่ประการใด จะยกเอา ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๕๒ มาใช้บังคับแก่จำเลยไม่ได้ เพราะจำเลยไม่มีหน้าที่ต้องฟังบังคับบัญชาของเจ้าพนักงานนั้น การกระทำของจำเลยควรมีความผิดตาม พ.ร.บ.อากรฆ่าสัตว์ พ.ศ. ๒๔๘๘ มาตรา ๑๒ ประกอบกับมาตรา ๖ ดังโจทก์ขอ หาใช่มาตรา ๑๑ ไม่
สำหรับนายวรวุธจำเลยนั้น ได้ความว่า จำเลยเป็นพนักงานเทศบาลประจำโรงฆ่าสัตว์ของเทศบาลมีหน้าที่ตรวจสอบใบอนุญาตให้ฆ่า กับสุกรที่ฆ่าและตีตราสุกรที่ฆ่า ไม่มีตำแหน่งหน้าที่เกี่ยวกับออกใบอนุญาตให้ฆ่าแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงฟังได้แต่เพียงว่า นายวรวุธจำเลยได้แก้วันในใบอนุญาตจากวันที่ ๑๐ เป็นวันที่ ๙ รวม ๖ ฉะบับ โดยนายแจ่มจำเลยซึ่งเป็นเทศมนตรี และเป็นผู้บังคับบัญชาสั่งให้แก้ จึงพอถือได้ว่า นายวรวุธจำเลยได้ทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ซึ่งตนอยู่ในบังคับบัญชา โดยเชื่อว่าเป็นการชอบ และมีเหตุผลอันสมควร ไม่ควรได้รับอาญา มาตรา ๕๒ (๒)
พิพากษาแก้ว่า นายทงจั๋วกับพวกจำเลยมีผิดตาม พ.ร.บ.อากรฆ่าสัตว์ ๒๔๘๘ มาตรา ๑๒ ให้ปรับคนละ ๖๐ บาท เพิ่มโทษนายเจ็งอี่ นายอั๋น นายกุ่ยจำเลยตามมาตรา ๗๒ คงปรับจำเลยทั้ง ๓ คนละ ๘๐ บาท นอกจากแก้คงยืน.