คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8493/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กรณีที่ผู้ต้องหาถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในคราวเดียวกันโดยกล่าวหาว่าได้กระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 7 วรรคแรกพนักงานสอบสวนจะต้องส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้อง ภายในกำหนดเจ็ดสิบสองชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับ โดยไม่มีข้อยกเว้นว่าจะเป็นกระทงความผิดใด แต่หากมีความจำเป็นไม่สามารถฟ้องผู้ต้องหาได้ทันภายในกำหนดเวลาดังกล่าวพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณีจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลขอผัดฟ้องตามมาตรา 7 วรรคสอง และวรรคสาม ซึ่งย่อมหมายความว่าจะต้องขอผัดฟ้องในทุกกระทงความผิดด้วยโดยไม่มีข้อยกเว้นให้เลือกผัดฟ้องเฉพาะความผิดกระทงใดกระทงหนึ่งได้แม้จะเกี่ยวพันกัน กระทงความผิดใดที่ไม่ได้ขอผัดฟ้องไว้จึงต้องถือว่าพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 7 วรรคแรกซึ่งจะต้องรับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการจึงจะมีสิทธิฟ้องคดีความผิดนั้นได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2537 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันคือ 1.1 จำเลยได้บังอาจพาอาวุธปืนออโตเมติก ขนาด 9 ม.ม. เครื่องหมายเลขทะเบียน ก.ท.3518779 จำนวน 1 กระบอก พร้อมด้วยกระสุนปืนขนาด 9 ม.ม. จำนวน 14 นัด ซึ่งเป็นของจำเลยที่ได้รับอนุญาตให้มี และใช้อาวุธปืนได้ตามกฎหมายและมีใบอนุญาตให้พบพาติดตัวไปในห้องอาหารธนบุรีพลาซ่าแขวงตลาดพลู เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นสถานที่ชุมชนที่จัดให้มีการรื่นเริง การมหรสพ 1.2 จำเลยได้บังอาจดูหมิ่นสิบตำรวจตรีวัชรพงษ์ ธริญาติ และจ่าสิบตำรวจชาญกิจ อุไรพันธ์เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลตลาดพลู ในขณะที่เข้าตรวจค้นและจับกุมจำเลยในข้อหาพาอาวุธปืนไปในที่ชุมชนที่ได้จัดให้มีการรื่นเริง อันเป็นการกระทำตามหน้าที่โดยพูดว่า “มึงเป็นตำรวจชั้นประทวนหรือนายตำรวจมึงเป็นแค่ชั้นประทวนเหรอ ขนาดนายเวรกูยังให้มากราบตีนกูได้” อีกเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ 1.3 จำเลยได้บังอาจต่อสู้ขัดขวางสิบตำรวจตรีวัชรพงษ์ในขณะเข้าตรวจค้นจับกุมจำเลยอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ โดยจำเลยขัดขืนไม่ยอมให้จับกุม 1.4 จำเลยได้บังอาจใช้กำลังกายประทุษร้ายชกต่อยสิบตำรวจตรีวัชรพงษ์ ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่หลายครั้งถูกบริเวณตาซ้าย จมูกจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายถึงบาดเจ็บ ปรากฏตามรายงานชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้อง และ 1.5 จำเลยได้บังอาจดูหมิ่นสิบตำรวจตรีประดิษฐ์ ไกยสวน และจ่าสิบตำรวจชาญกิจ อุไรพันธ์เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลตลาดพลู ซึ่งกระทำตามหน้าที่จับกุมจำเลย โดยจำเลยร้องด่าว่า “ไอ้สัตว์ตอนมึงอยู่ต่อหน้าพรรคพวกมึง มึงเก่งน๊ะ ตอนนี้อยู่ในบ้านกู้แล้วมึงเก่งอย่างเมื่อกี้นี้ซิไอ้สัตว์มึงถอดเครื่องแบบมาชกกับกูเดี๋ยวนี้เลย กูจะยิงมึงในบ้านกูนี่แหละ ให้พวกมึงคอยดูว่า กูยิงตำรวจตายแล้วกูจะติดคุกมั๊ยกู้จะยิงให้ตายเหมือนหมา สภาพพวกมึงตอนนี้ไม่ต่างจากหมาตัวหนึ่ง”อันเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคสอง มาตรา 72 ทวิ วรรคสาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 138, 296, 91
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ประทับฟ้องเฉพาะข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานและทำร้ายเจ้าพนักงานตามฟ้องข้อ 1.3 และ 1.4ส่วนข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ และดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามฟ้อง ข้อ 1.1 ข้อ 1.2 และข้อ 1.5 ไม่ปรากฏว่ามีการผัดฟ้องหรือได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการให้ฟ้องคดีจึงไม่รับ
โจทก์อุทธรณ์ ขอให้ศาลชั้นต้นสั่งประทับฟ้องโจทก์ทุกข้อหา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ได้ความตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ว่าเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2537 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง เจ้าพนักงานตำรวจได้จับจำเลยโดยกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญาหลายกรรมต่างกันตามฟ้องข้อ 1.1 ถึง ข้อ 1.5 รวม 5 กระทง ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอผัดฟ้องเฉพาะกระทงความผิดตามฟ้องข้อ 1.3 และ 1.4 และโจทก์ได้ฟ้องจำเลยภายในกำหนดที่ขอผัดฟ้องไว้ มีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้ว่าโจทก์จะฟ้องจำเลยรวมถึงกระทงความผิดตามฟ้องขึ้น 1.1, 1.2 และ 1.5ซึ่งพนักงานสอบสวนมิได้ยื่นคำร้องขอผัดฟ้องไว้โดยมิได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ (อัยการสูงสุด) ได้หรือไม่ เห็นว่าตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ. 2497 มาตรา 7 บัญญัติว่า “ในการสอบสวนคดีอายาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ เมื่อมีการจับตัวผู้ต้องหาแล้วให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแขวงให้ทันภายในเวลาเจ็ดสิบสองชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับ
ในกรณีเกิดความจำเป็นไม่สามารถฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลให้ทันภายในกำหนดเวลาดังกล่าวในวรรคแรก ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณียื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปได้อีกคราวละไม่เกินหกวัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสามคราว ในการวินิจฉัยคำร้องเช่นว่านี้ถ้ามีการขอให้ขังผู้ต้องหาด้วยหรือผู้ต้องหาแสดงตัวต่อศาล ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ และศาลอาจเรียกพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมาชี้แจงเหตุจำเป็นหรืออาจเรียกพยานเบิกความประกอบก็ได้
เมื่อศาลสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องครบสามคราวแล้ว หากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปอีกโดยอ้างเหตุจำเป็น ศาลจะอนุญาตตามขอนั้นได้ก็ต่อเมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการได้แสดงถึงเหตุจำเป็นและนำพยานมาเบิกความประกอบจนเป็นที่พอใจแก่ศาล ถ้ามีการขอให้ขังผู้ต้องหาด้วยหรือผู้ต้องหาแสดงตัวต่อศาล ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ ในกรณีเช่นว่านี้ ศาลมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องต่อไปได้คราวละไม่เกินหกวัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินกว่าสองคราว “และมาตรา 9บัญญัติว่า “ห้ามมิให้พนักงานอัยการฟ้องคดี เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 7 เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ” เห็นว่ากรณีที่ผู้ต้องหาถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในคราวเดียวกันโดยกล่าวหาว่า ได้กระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ตามมาตรา 7 วรรคแรก แห่งบทบัญญัติดังกล่าว พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบจะต้องส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลภายในกำหนดเจ็ดสิบสองชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับ บทบัญญัติดังกล่าวนี้มีความมุ่งหมายให้การพิจารณาและพิพากษาคดีในศาลแขวงเป็นไปโดยรวดเร็วโดยไม่มีข้อยกเว้นว่าจะเป็นกระทงความผิดใด แต่หากมีความจำเป็นไม่สามารถฟ้องผู้ต้องหาได้ทันภายในกำหนดเวลาดังกล่าว พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณีจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลขอผัดฟ้องตามความจำเป็นในแต่ละคราว ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 วรรคสองและวรรคสาม แห่งบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งย่อมหมายความว่าพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณีจะต้องขอผัดฟ้องในทุกกระทงความผิดด้วยโดยไม่มีข้อยกเว้นให้เลือกผัดฟ้องเฉพาะความผิดกระทงใดกระทงหนึ่งได้แม้จะเกี่ยวพันด้วย การขอผัดฟ้องในความผิดบางกระทงจึงไม่ครอบคลุมถึงกระทงความผิดอื่น กระทงความผิดใดที่ไม่ได้ขอผัดฟ้องไว้จึงต้องถือว่าพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 7 วรรคแรกแห่งบทบัญญัติดังกล่าวซึ่งจะต้องรับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการจึงจะมีสิทธิฟ้องคดีได้ เกี่ยวกับคดีนี้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมิได้ขอผัดฟ้องในกระทงความผิดตามฟ้องข้อ 1.1, 1.2 และ 1.5 ดังกล่าวและมิได้อนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยในกระทงความผิดดังกล่าว ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share