คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7075/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่1ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ต่อมาจำเลยที่1จดทะเบียนโอนขายที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่จำเลยที่2เป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบจำเลยที่2ย่อมนำสืบพยานบุคคลหักล้างหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทได้ว่าซื้อขายกันจริงในราคา1,400,000บาทส่วนเหตุที่มีการระบุไว้ในหนังสือสัญญาขายที่ดินว่ามีการซื้อในราคาเพียง780,000บาทนั้นเป็นการแจ้งราคาซื้อขายให้บิดเบือนไปจากราคาซื้อที่ขายกันจริงเพื่อประโยชน์ในการที่จะได้ไม่ต้องเสียภาษีในจำนวนที่สูงเพราะมิใช่เป็นการนำสืบเพื่อให้บังคับหรือไม่บังคับตามสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อจึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา94(ข)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจำนวน 151,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีต่อมาวันที่ 14 พฤศจิกายน 2532 จำเลยที่ 1 ได้ทำนิติกรรมขายบ้านตึกสองชั้นเลขที่ 99/70 พร้อมโฉนดเลขที่ 155645 และ 155646 เนื้อที่80 ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 780,000 บาท จำเลยที่ 1และที่ 2 ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเสียเปรียบ ขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 155645 และ 155646 แขวงบางจาก เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2ฉบับลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2532
จำเลย ที่ 1 ขาดนัด ยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1เป็นลูกหนี้ของโจทก์ ทั้งไม่ทราบว่าจะทำให้โจทก์ต้องเสียเปรียบจำเลยที่ 2 ซื้อโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนตามราคาซื้อขายในท้องตลาดซึ่งสูงกว่าจำนวนหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือสัญญาขายที่ดินโฉนดเลขที่ 155645 และ 155646 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานครพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่14 พฤศจิกายน 2532 และเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมดังกล่าว
จำเลย ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้องโจทก์
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบและจำเลยที่ 2 มิได้นำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่นฟังยุติว่า เมื่อวันที่ 20มิถุนายน 2532 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับนายวรนิมิต สวยรักษ์ ชำระเงินจำนวน 151,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2531เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ทราบคำบังคับแล้วไม่ยอมชำระ ครั้นวันที่ 14 พฤศจิกายน 2532 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งมีบ้านอยู่ติดกันเงินที่ได้จากการขายที่ดินและบ้านพิพาท จำเลยที่ 1 มิได้นำไปชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้แก่โจทก์ นอกจากที่ดินและบ้านพิพาทแล้วจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอย่างอื่นพอที่จะให้โจทก์ยึดมาชำระหนี้ได้อีก คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของโจทก์แต่เพียงว่า ในขณะที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกจากสัญญาซื้อขายดังกล่าวได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ต้องเสียเปรียบด้วยหรือไม่ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรู้ว่าการที่จำเลยที่ 2ตกลงซื้อที่ดินและบ้านพิพาทจากจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์เสียเปรียบเพราะจำเลยที่ 2 มีบ้านอยู่ติดกับจำเลยที่ 1 ขณะที่จำเลยที่ 1ถูกดำเนินคดีแพ่งตามที่โจทก์ฟ้องต่อศาลชั้นต้น เจ้าพนักงานเดินหมายของกรมบังคับคดีได้นำหมายเรียก สำเนาคำฟ้อง หมายนัดสืบพยานโจทก์และคำบังคับไปปิดไว้ที่บ้านของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2ซึ่งมีบ้านอยู่ติดกันน่าจะต้องทราบว่าจำเลยที่ 1 กำลังถูกโจทก์ฟ้องคดีแพ่งบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ นอกจากนี้โจทก์ยังนำสืบว่า จำเลยที่ 2 ตกลงซื้อที่ดินและบ้านพิพาทในราคา 780,000 บาท ต่ำกว่าราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดย่อมส่อแสดงว่าจำเลยที่ 2 ตกลงซื้อที่ดินและบ้านพิพาทในราคาต่ำโดยเจตนาให้โจทก์เสียเปรียบ แต่จำเลยที่ 2 ก็นำสืบหักล้างว่าก่อนที่จำเลยที่ 2 จะซื้อที่ดินและบ้านพิพาท จำเลยที่ 2 ไม่รู้มาก่อนว่าจำเลยที่ 1 กำลังถูกโจทก์ฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ต่อศาลชั้นต้นอยู่ ทั้งจำเลยที่ 2 ได้ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทในราคา 1,400,000 บาท อันเป็นราคาท้องตลาดในขณะนั้น ส่วนราคาซื้อขายจำนวน 780,000 บาท ที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาขายที่ดินตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.5 เป็นเพียงราคาที่ระบุไว้เพื่อให้เสียภาษีน้อยเท่านั้น หาใช่ราคาซื้อขายที่แท้จริงไม่ เห็นว่า ข้อนำสืบของจำเลยที่ 2 มีสำเนาหนังสือสัญญาจะซื้อขายตึกแถวบ้านพร้อมที่ดิน 80 ตารางวา เอกสารหมาย ล.3และสำเนาใบขอซื้อตราสารของธนาคารกรุงเทพ จำกัด กับสำเนาแคชเชียร์เช็คเลขที่ 0015260 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2532 ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาบางจาก เอกสารหมาย ล.1 และ ล.2เป็นพยานสนับสนุน โดยสำเนาหนังสือสัญญาจะซื้อขายตึกแถวบ้านพร้อมที่ดิน 80 ตารางวา ระบุแจ้งชัดว่าจำเลยที่ 2 ตกลงซื้อที่ดินและบ้านพิพาทจากจำเลยที่ 1 ในราคา 1,400,000 บาท มีการวางมัดจำไว้ในวันทำสัญญาเป็นเงินจำนวน 300,000 บาท ในส่วนของเงินมัดจำจำเลยที่ 2 มีสำเนาใบขอซื้อตราสารของธนาคารกรุงเทพ จำกัดกับสำเนาแคชเชียร์เช็คเลขที่ 0015260 ของธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาบางจาก เอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 ซึ่งเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวลงวันที่เดียวกับวันที่ในหนังสือสัญญาจะซื้อขายตึกแถวบ้านพร้อมที่ดิน 80 ตารางวา คือวันที่ 8 พฤศจิกายน 2532 เป็นพยานสนับสนุนให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ได้ซื้อแคชเชียร์เช็คฉบับดังกล่าวจ่ายเป็นค่ามัดจำในการซื้อที่ดินและบ้านพิพาทจริงส่วนเงินค่าซื้อที่ดินและบ้านพิพาทที่เหลืออีก 1,100,000 บาทจำเลยที่ 2 นำสืบได้ว่าเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2532 ซึ่งเป็นวันนัดจดทะเบียนโอนที่ดินและบ้านพิพาท จำเลยที่ 2 ได้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาบางจาก บัญชีเลขที่ 1792063602 ตามเอกสารหมาย ล.6จำนวน 1,125,814.96 บาท ไปซื้อแคชเชียร์เช็คของธนาคารกรุงเทพจำกัด จำนวน 885,408 บาท สั่งจ่ายให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ซึ่งเป็นธนาคารที่รับจำนองที่ดินและบ้านพิพาทไว้ รายละเอียดปรากฏตามสำเนาแคชเชียร์เช็คเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 2 กับแนบคำขอไถ่ถอนจำนองเอกสารหมาย ล.4 เมื่อหลักฐานในแบบขอไถ่ถอนจำนองเอกสารหมาย ล.4 ระบุไว้ชัดว่าจำเลยที่ 1 ได้ไถ่ถอนจำนองที่ดินและบ้านพิพาทที่มีอยู่ต่อธนาคารอาคารสงเคราะห์ด้วยแคชเชียร์เช็คเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 2 ที่จำเลยที่ 2เป็นผู้ซื้อก็เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทจากจำเลยที่ 1 ในราคา 1,400,000 บาท ดังที่จำเลยที่ 2 นำสืบจริงส่วนเหตุที่มีการระบุไว้ในหนังสือสัญญาขายที่ดินตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.5 ว่ามีการซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทในราคาเพียง 780,000 บาทนั้น มีเหตุให้เชื่อว่าเป็นการแจ้งราคาซื้อขายให้บิดเบือนไปจากราคาที่ซื้อขายกันจริงเพื่อประโยชน์ในการที่จะได้ไม่ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐในจำนวนที่สูงดังที่จำเลยที่ 2 นำสืบ ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้จำเลยที่ 2 นำสืบพยานบุคคลหักล้างได้ เพราะมิใช่เป็นการนำสืบเพื่อให้บังคับหรือไม่บังคับตามสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อจึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย และการที่จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทจากจำเลยที่ 1 ในราคา 1,400,000 บาท นับได้ว่าเป็นราคาที่สูงพอสมควร หาใช่ซื้อมาในราคาต่ำกว่าราคาในท้องตลาดอย่างผิดปกติดังที่โจทก์นำสืบไม่ เพราะแม้นายสุสดา พันนุฤทธิ์ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านว่า ราคาที่ดินพิพาทในขณะนั้นประมาณ 1,600,000 บาท แต่นายสุพรหม บัวทิพย์อดีตพนักงานเดินหมายของกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นพยานโจทก์อีกปากหนึ่งก็เบิกความว่า ที่ดินและบ้านพิพาทราคาประมาณ1,000,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับที่จำเลยที่ 2ซื้อมาดังกล่าว ส่วนเรื่องที่จำเลยที่ 2 มีบ้านอยู่ติดกับบ้านของจำเลยที่ 1 ก็ไม่จำเป็นที่จำเลยที่ 2 จะต้องรู้ว่าจำเลยที่ 1 ถูกโจทก์ฟ้องคดีแพ่งบังคับให้ชำระหนี้ เพราะเป็นไปได้ที่คนอยู่บ้านติดกันอาจจะไม่ได้สนใจต่อเรื่องราวหรือความเคลื่อนไหวของคนบ้านอื่นโดยถือว่าเรื่องของชาวบ้านมิใช่ธุระของตน เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้สนใจว่าใครจะไปทำอะไรที่บ้านของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ก็ย่อมจะไม่รู้ว่าจำเลยที่ 1ถูกโจทก์ฟ้องคดีแพ่งและกำลังถูกบังคับคดี เมื่อชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของโจทก์และของจำเลยที่ 2 แล้ว เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2มิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบโจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ไม่ได้”
พิพากษายืน

Share