แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสร้างตนเองในจังหวัดลพบุรีและสระบุรีพ.ศ. 2485 ตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2485 ที่ดินที่หวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกาย่อมหมายถึงสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่า ดังบัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2485 มาตรา 4 เท่านั้นไม่รวมถึงสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ซึ่งมีอยู่ก่อนใช้พระราชกฤษฎีกา
ที่พิพาทมิใช่เป็นที่สาธารณประโยชน์ที่สงวนไว้เพื่อประชาชนใช้ร่วมกันมาแต่เดิมก่อนพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสร้างตนเองในจังหวัดลพบุรีและจังหวัดสระบุรี พ.ศ. 2485 ประกาศใช้บังคับ แต่เป็นโครงการของอำเภอชัยบาดาลจัดที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นที่หวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกาทำเป็นผังเมืองขึ้นในปี พ.ศ. 2503 โดยประสงค์จะใช้ที่พิพาทและที่ดินบริเวณติดต่อทำเป็นถนนและสระน้ำสาธารณะ อันเป็นการดำเนินการขึ้นภายหลังที่ออกพระราชกฤษฎีกาแล้ว และโครงการดังกล่าวกระทรวงมหาดไทยได้สั่งยกเลิกไปแล้วการที่อำเภอชัยบาดาลยังสงวนที่ดินไว้ และสุขาภิบาลลำนารายณ์ถมที่พิพาทจัดทำเป็นตลาดวางหาบเร่กับเก็บขยะ หามีผลทำให้ที่พิพาทอันเป็นที่รกร้างว่างเปล่ามาแต่เดิมซึ่งตกมาเป็นที่หวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกา กลายเป็นที่สาธารณประโยชน์ไม่ เพราะอำนาจในการจัดดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินอันเป็นที่หวงห้ามมิใช่เป็นของนายอำเภอ แต่เป็นอำนาจของอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกานั้น
อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์อนุญาตให้โจทก์เข้าอยู่อาศัยทำกินในที่พิพาทแล้วแม้โจทก์จะเคยยอมรับว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณะ ก็เป็นเรื่องรับรู้ว่าที่พิพาทอยู่ในโครงการของอำเภอเท่านั้น หาใช่เป็นการยอมรับว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่สงวนไว้มาแต่เดิมไม่จำเลยจึงไม่มีอำนาจสั่งห้ามโจทก์ระงับการก่อสร้างโดยอ้างว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณะ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ให้เข้าทำกินในที่ดินเขตพระราชกฤษฎีกาสงวนหวงห้ามจัดตั้งนิคมสร้างตนเองในท้องที่หมู่ 1 ตำบลลำนารายณ์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี โจทก์ก่อสร้างอาคารลงในที่ดินดังกล่าว จำเลยทั้งสองแจ้งให้โจทก์ระงับการก่อสร้างโดยอ้างว่าโจทก์สร้างอาคารทับที่สาธารณะ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดของโจทก์ ขอให้ศาลสั่งห้ามจำเลยทั้งสองเข้าเกี่ยวข้อง
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิปลูกสร้างอาคารในที่พิพาทเพราะมิได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 ที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์อยู่ในความควบคุมดูแลของจำเลยที่ 1 มิใช่เป็นที่ดินซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมประชาสงเคราะห์การอนุญาตของกรมประชาสงเคราะห์ไม่มีผลบังคับ จำเลยที่ 2 ทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณะอยู่ในความดูแลของจำเลย จำเลยสั่งระงับการก่อสร้างได้ไม่เป็นละเมิด พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่าที่พิพาทไม่ใช่ที่สาธารณะพิพากษากลับ ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่พิพาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสร้างตนเองในจังหวัดลพบุรีและจังหวัดสระบุรี พ.ศ. 2485 ตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2485ที่ดินหวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกา ย่อมหมายถึงสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่า ดังบัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2485 มาตรา 4 เท่านั้น จึงไม่รวมถึงสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันซึ่งมีอยู่ก่อนใช้พระราชกฤษฎีกา ดังนั้น ในการวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยจึงต้องพิจารณาว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่สงวนไว้เพื่อประชาชนใช้ร่วมกันมาแต่เดิม คือก่อนออกพระราชกฤษฎีกาหรือไม่ ตามที่จำเลยนำสืบประกอบกับสถานที่พิพาทฟังได้ชัดว่าที่พิพาทมิใช่ที่สาธารณประโยชน์ที่สงวนไว้เพื่อประชาชนกับสถานที่พิพาทฟังได้ชัดว่าที่พิพาทมิใช่ที่สาธารณประโยชน์ที่สงวนไว้เพื่อประชาชนใช้ร่วมกันมาแต่เดิม ก่อนพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสร้างตนเองในจังหวัดลพบุรีและจังหวัดสระบุรี พ.ศ. 2485 ประกาศใช้บังคับ แต่เป็นโครงการของอำเภอชัยบาดาลจัดที่ดินรกร้างว่างเปล่าเป็นที่หวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกาทำเป็นผังเมืองขึ้นในปี 2503 โดยประสงค์จะใช้ที่พิพาทและที่ดินบริเวณติดต่อทำเป็นถนนและสระน้ำสาธารณะอันเป็นการดำเนินการขึ้นภายหลังที่ออกพระราชกฤษฎีกาแล้ว โครงการณ์ดังกล่าวเชื่อว่ากระทรวงมหาดไทยสั่งยกเลิกไปดังที่นายจำเนียร ปฏิเวชวรรณกิจนายอำเภอชัยบาดาลเบิกความ การที่อำเภอชัยบาดาลยังสงวนที่ดินไว้ และสุขาภิบาลลำนารายณ์ถมที่พิพาทจัดทำเป็นตลาดวางหาบเร่กับเก็บขยะหามีผลทำให้ที่พิพาทอันเป็นที่รกร้างว่างเปล่ามาแต่เดิมซึ่งตกมาเป็นที่หวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกา กลายมาเป็นที่สาธารณประโยชน์ไม่ เพราะอำนาจในการจัดดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินอันเป็นที่หวงห้ามมิใช่เป็นของนายอำเภอแต่เป็นอำนาจของอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกานั้น ซึ่งอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์อนุญาตให้โจทก์เข้าอยู่อาศัยทำกินแล้ว แม้โจทก์จะเคยยอมรับว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณะ ก็เป็นเรื่องรับรู้ว่าที่พิพาทอยู่ในโครงการของอำเภอเท่านั้น หาใช่เป็นการยอมรับว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่สงวนไว้มาแต่เดิมไม่ จำเลยไม่มีอำนาจสั่งห้ามโจทก์ระงับการก่อสร้างโดยอ้างว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณะ
พิพากษายืน