คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 918/2521

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทไทยวีระพล จำกัด(ลูกหนี้) เด็ดขาดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2517 ต่อมาวันที่ 25 กันยายน 2517รัฐวิสาหกิจธิมมิลอร์ทแห่งรูเมเนียโดยนายคอสติกาคิลเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการในฐานะเป็นเจ้าหนี้ได้มอบอำนาจให้นายเปรมปรีชาทิพยวาน ยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าสินค้าค้างชำระและค่าธรรมเนียม ปรากฏรายละเอียดตามบัญชีที่ยื่นพร้อมกับคำขอรับชำระหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้นัดลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายมาพร้อมกันเพื่อตรวจคำขอรับชำระหนี้และดำเนินการสอบสวนหนี้สินรายนี้แล้วทำความเห็นต่อศาลชั้นต้นว่า เจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ แต่การผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้ไม่อาจถือได้ว่าเป็นข้อขัดแย้งอันเกิดจากสัญญาแต่อย่างใดจะนำคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการมาบังคับลูกหนี้ให้ปฏิบัติตามไม่ได้ และเจ้าหนี้นำหนี้สินรายนี้มายื่นคำขอรับชำระหนี้เกินกว่า 2 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้จึงขาดอายุความแล้ว กรณีต้องห้ามมิให้ได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 94(1) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 เห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของรัฐวิสาหกิจธิมมิลอร์ท เจ้าหนี้รายนี้เสียตามมาตรา 107(1) แห่งล้มละลาย พุทธศักราช 2483

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของรัฐวิสาหกิจธิมมิลอร์ทตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

รัฐวิสาหกิจธิมมิลอร์ทเจ้าหนี้อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษายืน

รัฐวิสาหกิจธิมมิลอร์ทเจ้าหนี้ฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ตามทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ความว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2514 บริษัทลูกหนี้ได้ติดต่อขอซื้อสินค้าประเภทแคลเซี่ยมคาร์ไบด์กับเจ้าหนี้โดยผ่านทางผู้แทนการค้าของสาธารณรัฐสังคมนิยมโรมาเนียหรือรูเมเนียที่สำนักงาน เลขที่ 59 ซอยพระยาพิพัฒน์ ถนนสีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เจ้าหนี้ตกลงขายให้และได้ทำสัญญาซื้อขายสินค้าแคลเซี่ยมคาร์ไบด์จำนวน 4,000เมตริกตัน คิดเป็นเงินไทย 4,662,200 บาท กันไว้เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2514 หลังจากทำสัญญาซื้อขายสินค้ากันแล้ว เจ้าหนี้ได้ส่งมอบสินค้าให้บริษัทลูกหนี้ครบถ้วนตามสัญญา และเมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ บริษัทลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้เจ้าหนี้จึงนำหนังสือค้ำประกันที่บริษัทลูกหนี้ทำให้ไว้ไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด จำนวนร้อยละ 15 ของจำนวนเงินค่าสินค้าทั้งหมดคิดเป็นเงินไทย 699,390 บาท บริษัทลูกหนี้จึงยังคงค้างชำระค่าสินค้าอยู่คิดเป็นเงินไทย 3,963,210 บาท วันที่ 15 พฤศจิกายน 2515 เจ้าหนี้นำเรื่องการผิดนัดของบริษัทลูกหนี้ให้อนุญาโตตุลาการทางการค้าของหอการค้าแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมโรมาเนียพิจารณาตัดสิน วันที่ 23 เมษายน 2516 คณะกรรมาธิการอนุญาโตตุลาการได้มีคำตัดสินให้บริษัทลูกหนี้ชำระหนี้ค่าสินค้าที่ค้างชำระพร้อมด้วยดอเบี้ยร้อยละ 8 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2515 ซึ่งเป็นวันผิดนัดจนถึงวันชำระเสร็จ และค่าธรรมเนียมในการไกล่เกลี่ยรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,090,747บาท 55 สตางค์ ต่อมาเจ้าหนี้มอบให้ทนายความมีหนังสือลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์2517 ทวงถามบริษัทลูกหนี้ แต่บริษัทลูกหนี้ก็ไม่ยอมชำระหนี้ ต่อมาเจ้าหนี้ทราบว่าบริษัทลูกหนี้ถูกร้องขอให้ล้มละลายและถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเจ้าหนี้จึงมายื่นคำขอรับชำระหนี้ตามจำนวนเงินดังกล่าว

ที่เจ้าหนี้ฎีกาว่า การผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้ถือได้ว่าเป็นข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธินำข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทดังกล่าวให้อนุญาโตตุลาการของหอการค้าแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมโรมาเนียชี้ขาดตัดสินได้ และเมื่ออนุญาโตตุลาการชี้ขาดตัดสินแล้ว คำตัดสินนั้นย่อมผูกพันและใช้บังคับลูกหนี้ให้ปฏิบัติตามได้นั้น ปรากฏว่าเงื่อนไขทั่วไปในข้อ 7 ของสัญญาซื้อขายรายนี้มีข้อความว่า “ข้อขัดแย้งใด ๆ อันเกิดจากสัญญาซึ่งไม่สามารถตกลงโดยประนีประนอมกันเองได้ ให้เสนอไปเพื่อตัดสินโดยอนุญาโตตุลาการโดยสภาการค้าแห่งสาธารณรัฐโซเซียลลิสต์โรเมเนีย คำตัดสินให้ถือว่าเป็นที่สุดและมีผลบังคับ” ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อขัดแย้งดังที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขทั่วไปข้อ 7 นั้น ย่อมหมายถึงข้อขัดแย้งอันเป็นอุปสรรคทำให้คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ไม่สามารถปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาได้แต่ข้อเท็จจริงตามทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปรากฏว่า การซื้อขายรายนี้ได้มีการส่งและรับมอบสินค้ากันถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาแล้ว โดยคู่สัญญาไม่มีข้อขัดแย้งใด ๆ อันเป็นอุปสรรคเกี่ยวกับสัญญาที่ทำกันไว้แต่อย่างใดเลย การที่ลูกหนี้ได้รับมอบสินค้าแล้วต่อมาผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เป็นเรื่องการผิดนัดตามธรรมดา หาใช่เป็นข้อขัดแย้งอันเกิดจากสัญญาดังกล่าวแล้วไม่ เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิที่จะนำเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้ไปให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดตัดสิน และจะนำคำตัดสินนั้นมาใช้บังคับให้ลูกหนี้ปฏิบัติตามหาได้ไม่ ฎีกาในประเด็นข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ที่เจ้าหนี้ฎีกาว่า สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ยังไม่ขาดอายุความนั้นข้อเท็จจริงตามทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปรากฏว่า เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ผ่านธนาคารผู้ค้ำประกันเป็นจำนวนร้อยละ 15 ของจำนวนเงินทั้งหมดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2515 ดังนั้นอายุความสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ในเงินที่ลูกหนี้ยังค้างชำระอยู่จึงเริ่มต้นนับตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2515 เป็นต้นไป แต่บริษัทลูกหนี้ได้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2517 และเจ้าหนี้มายื่นคำขอรับชำระหนี้รายนี้เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2517 เกินกำหนด2 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) ที่เจ้าหนี้อ้างว่า เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2515 ลูกหนี้ได้มีหนังสือถึงเจ้าหนี้ตามสำเนาหนังสือที่ทำส่งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งสำเนาหนังสือฉบับนี้มีผู้ช่วยหัวหน้าอนุญาโตตุลาการของหอการค้าแห่งประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมโรมาเนียรับรองความถูกต้อง รับฟังได้ว่าเป็นหนังสือรับสภาพหนี้อันทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้น พิเคราะห์แล้ว ปรากฏว่าในชั้นสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ลูกหนี้ได้โต้แย้งคัดค้านความถูกต้องของสำเนาหนังสือฉบับนี้และเจ้าหนี้ก็มิได้แสดงเหตุขัดข้องที่ไม่สามารถนำต้นฉบับมาแสดงได้แต่อย่างใด ถึงแม้สำเนาหนังสือฉบับนี้จะมีผู้ช่วยหัวหน้าอนุญาโตตุลาการของหอการค้าแห่งประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมโรมาเนียรับรองความถูกต้องก็ตามแต่ผู้รับรองจะมีอำนาจรับรองหรือเชื่อถือได้เพียงใดไม่ปรากฏ จึงรับฟังสำเนาหนังสือฉบับนี้ว่าเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ไม่ได้เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 ฎีกาในประเด็นข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share