คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22319/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการขนส่งสินค้ารายนี้ สินค้าถูกส่งมากับเที่ยวบินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งลงจอดที่สนามบินอู่ตะเภาเนื่องจากสนามบินสุวรรณภูมิถูกปิดเพราะเหตุประท้วง แล้วส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 4 จากนั้นจำเลยที่ 4 บรรทุกสินค้าที่ได้รับมอบจากสนามบินอู่ตะเภามาที่สนามบินสุวรรณภูมิเพื่อเก็บไว้ในโกดังของจำเลยที่ 4 และดำเนินพิธีการทางศุลกากรที่สนามบินสุวรรณภูมิ กับแจ้งให้บริษัท ฮ. มารับสินค้า โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 เข้าไปมีส่วนร่วมขนส่งสินค้ากับผู้ขนส่งรายอื่นในส่วนใดส่วนหนึ่ง ทั้งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกใบตราส่งทางอากาศ การบรรทุกสินค้าจากสนามบินอู่ตะเภามายังสนามบินสุวรรณภูมิเป็นเพียงการขนย้ายสินค้าเพื่อดำเนินพิธีการทางศุลกากรที่สนามบินสุวรรณภูมิเท่านั้น แสดงว่าจำเลยที่ 4 มีหน้าที่เพียงแจ้งการมาถึงของสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งมารับสินค้า ถือไม่ได้ว่าเป็นการเข้ามีส่วนร่วมในการขนส่งทอดใดทอดหนึ่ง
จำเลยที่ 4 ได้รับสินค้าและตรวจพบความเสียหายของกล่องบรรจุสินค้าจึงได้ทำรายงานสินค้าเสียหายเอาไว้ แสดงว่าสินค้าต้องถูกกระแทกได้รับความเสียหายในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งระหว่างการขนส่ง แม้จะไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ชัดเจนว่าสินค้าดังกล่าวได้รับความเสียหายในระหว่างการขนส่งของบุคคลใด แต่ได้ความจากพนักงานสำรวจและประเมินความเสียหายว่าเมื่อไปตรวจสอบความเสียหายของสินค้าที่สถานที่รับมอบสินค้าตามคำสั่งให้ส่งสินค้า (Delivery Order) พบสินค้าที่ขนส่งมาโดยเที่ยวบินของจำเลยที่ 3 ได้รับความเสียหาย อันเป็นสินค้าที่จำเลยที่ 3 ได้รับมอบหมายให้ดูแลทำการขนส่ง เมื่อผู้รับสินค้ายังไม่ยินยอมรับมอบสินค้า ถือได้ว่าสินค้าดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการดูแลของจำเลยที่ 3 ผู้ขนส่ง เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่สินค้าดังกล่าว จำเลยที่ 3 ผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้า เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดแต่สภาพแห่งของนั้นเอง หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 616 แต่เมื่อมีข้อความระบุข้อจำกัดความรับผิดในการขนส่งทางอากาศของจำเลยที่ 3 ไว้ ซึ่งผู้ส่งหรือผู้แทนได้ลงนามตกลงไว้โดยชัดแจ้ง และผู้ส่งหรือผู้แทนไม่ได้แจ้งต่อจำเลยที่ 3 ว่าประสงค์จะให้รับผิดตามราคาของที่อ้างว่าเสียหาย ข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 625 ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏในใบตราส่งทางอากาศว่าได้ระบุข้อจำกัดความรับผิดไว้ด้วย จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเต็มจำนวน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 736,963.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 697,716.78 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระให้โจทก์เสร็จ
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความคนละ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งร่วมกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ได้จากคำเบิกความของนางสาวสโรชินี พยานของจำเลยที่ 4 ว่า ในการขนส่งสินค้ารายนี้ สินค้าได้ถูกส่งมากับเที่ยวบินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งลงจอดที่สนามบินอู่ตะเภา แล้วส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 4 จากนั้นจำเลยที่ 4 บรรทุกสินค้าที่ได้รับมอบจากสนามบินอู่ตะเภามาที่สนามบินสุวรรณภูมิเพื่อเก็บไว้ในโกดังของจำเลยที่ 4 เพื่อดำเนินพิธีการทางศุลกากรที่สนามบินสุวรรณภูมิและแจ้งให้บริษัทฮันคิว อินเตอร์เนชั่นแนล ทรานสปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อมาติดต่อขอรับสินค้าไปจากจำเลยที่ 4 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 เข้าไปมีส่วนร่วมขนส่งสินค้ากับผู้ขนส่งรายอื่นในส่วนใดส่วนหนึ่ง ทั้งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกใบตราส่งทางอากาศ แม้สินค้าดังกล่าวจำเลยที่ 4 จะบรรทุกสินค้าจากสนามบินอู่ตะเภามายังสนามบินสุวรรณภูมิ ก็ได้ความจากนายกฤษณะ พนักงานสำรวจและประเมินความเสียหายของสินค้า เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า เครื่องบินที่บรรทุกสินค้าลงจอดที่สนามบินอู่ตะเภาเพราะไม่สามารถลงจอดที่สนามบินสุวรรณภูมิได้เนื่องจากสนามบินถูกปิดเพราะเหตุประท้วง ดังนั้น การบรรทุกสินค้าดังกล่าว จึงเป็นเพียงการขนย้ายสินค้าเพื่อดำเนินการพิธีการทางศุลกากรที่สนามบินสุวรรณภูมิเท่านั้น พฤติการณ์เช่นนี้แสดงว่า จำเลยที่ 4 มีหน้าที่เพียงแจ้งการมาถึงของสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งมารับสินค้าตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัย กรณีไม่อาจถือว่าเป็นการเข้ามีส่วนร่วมในการขนส่งทอดใดทอดหนึ่งตามที่โจทก์ยกขึ้นอุทธรณ์แต่ประการใด อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อไปว่า สินค้าได้รับความเสียหายในระหว่างการขนส่งของจำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ ปัญหานี้นายสำรวล พนักงานฝ่ายสินไหมทดแทนของโจทก์เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า โจทก์รับประกันภัยสินค้าพิพาทประเภทส่วนประกอบไอซี (CHIP) ไว้จากบริษัทโตชิบา เซมิคอนดัคเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งสั่งซื้อจากบริษัทโตชิบา คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในประเทศญี่ปุ่น แต่เมื่อบริษัทฮันคิว อินเตอร์เนชั่นแนล ทรานสปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้รับมอบจากบริษัทโตชิบา เซมิคอนดัคเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ไปขอรับสินค้าจากจำเลยที่ 4 ปรากฏว่ากล่องบรรจุสินค้ามีสภาพฉีกขาดและบุบอย่างมากเพราะโดนกระแทกอย่างรุนแรงจำนวน 3 กล่อง ซึ่งจำเลยที่ 4 ได้ออกรายงานสินค้าเสียหาย (DAMAGED SHIPMENT REPORT) ไว้เป็นหลักฐาน บริษัทนิปปอน ไคจิ เคนเตอิ (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับจ้างสำรวจภัยอิสระ ทำการสำรวจความเสียหายของสินค้าแล้ว พบว่าสินค้าถูกกระแทกอย่างรุนแรง ไม่สามารถนำสินค้าใช้งานได้เพราะอาจทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้ และไม่สามารถซ่อมแซมได้แม้จะไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ชัดเจนว่าสินค้าพิพาทดังกล่าวได้รับความเสียหายในระหว่างการขนส่งของบุคคลใด แต่ก็ได้ความจากนายกฤษณะ พนักงานสำรวจและประเมินความเสียหายว่า พยานได้ไปตรวจสอบความเสียหายของสินค้าพิพาทที่บริษัทโตชิบา เซมิคอนดัคเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด อันเป็นสถานที่รับมอบสินค้าตามคำสั่งให้ส่งสินค้า (Delivery Order) ซึ่งระบุว่าสินค้า 1 ใน 13 กล่อง ขนส่งมาโดยเที่ยวบินCX 703 ของจำเลยที่ 2 และสินค้า 12 ใน 13 กล่อง ขนส่งมาโดยเที่ยวบิน LD 831 ของจำเลยที่ 3 ย่อมแสดงว่าสินค้าพิพาทดังกล่าวเป็นสินค้าที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับมอบหมายให้ดูแลทำการขนส่ง เมื่อผู้รับสินค้ายังไม่ยินยอมรับมอบสินค้า ก็ถือว่าสินค้าพิพาทดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการดูแลของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ขนส่ง และเมื่อปรากฏว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นแก่สินค้าพิพาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้า เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดแต่สภาพแห่งของนั้นหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ส่งหรือผู้รับตราส่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616 อย่างไรก็ตาม รายงานการสำรวจความเสียหายซึ่งถือเป็นเอกสารสำคัญในการพิสูจน์ความเสียหายระบุชื่อเที่ยวบินที่ส่งสินค้าเป็นเที่ยวบินของจำเลยที่ 3 แต่เพียงผู้เดียว โดยใช้รหัสสินค้าที่จัดส่งเลขที่ MAWB No. 28830275092 / HAWB No. 2202879442 และระบุเลขที่ตามใบกำกับสินค้าไว้เลขที่ 15732KM ตรงกับรหัสและเลขที่ที่ระบุไว้ตามคำสั่งให้ส่งสินค้า (Delivery Order) ของจำเลยที่ 3 เอกสารหมาย จ.15 แสดงว่าพยานที่เกี่ยวข้องกับการพิสูจน์ความเสียหายดังกล่าวเชื่อว่าสินค้าพิพาทที่ได้รับความเสียหายเป็นสินค้าที่ขนส่งมากับเที่ยวบินของจำเลยที่ 3 มิใช่สินค้าที่ขนส่งมากับเที่ยวบินของจำเลยที่ 2 เพราะมิฉะนั้นแล้วต้องระบุรายละเอียดกับบุคคลหรือเอกสารและสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ ไว้ด้วย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงรับฟังไม่ได้ว่ากล่องสินค้าพิพาทเป็นสินค้าที่ขนส่งโดยเที่ยวบินของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในความเสียหายของสินค้าพิพาท อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน อย่างไรก็ตามปรากฏข้อความตามใบตราส่งทางอากาศ (AIRWAY BILL) โดยโจทก์มิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่นฟังได้ว่า มีข้อความระบุข้อจำกัดความรับผิดในการขนส่งทางอากาศของจำเลยที่ 3 ไว้ไม่เกิน 17 เอสดีอาร์ (Special Drawing Rights) ของน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ของสินค้าที่เสียหาย ซึ่งผู้ส่งหรือผู้แทนได้ลงนามตกลงไว้โดยชัดแจ้งและผู้ส่งหรือผู้แทนไม่ได้แจ้งต่อจำเลยที่ 3 ว่าประสงค์จะให้รับผิดตามราคาของที่อ้างว่าเสียหาย ข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 625 จากการนำสืบของจำเลยที่ 3 ในการคำนวณอัตราเอสดีอาร์ ที่ได้จากเว็บไซต์ของไอเอ็มเอฟและตารางอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันฟ้อง ตามเอกสาร โดยโจทก์มิได้นำสืบโต้แย้งอัตราดังกล่าว ปรากฏว่า 17 เอสดีอาร์ เท่ากับ 10.67 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 355.43 บาท ต่อ 1 กิโลกรัม คำสั่งให้ส่งสินค้าตามเอกสารหมาย จ.15 มีจำนวน 12 ใน 13 กล่อง น้ำหนักรวม 138.6 กิโลกรัม คิดคำนวณน้ำหนักเฉลี่ยได้กล่องละ 11.55 กิโลกรัม ดังนั้น จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อความเสียหายของสินค้าที่เสียหายจำนวน 3 กล่อง น้ำหนักรวมได้ 34.65 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 12,315.65 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏในใบตราส่งทางอากาศ ว่าได้ระบุข้อจำกัดความรับผิดไว้ด้วย จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายของสินค้าพิพาทเต็มจำนวน ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ด้วยนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ระเงินจำนวน 736,963.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี องต้นเงิน 697,716.78 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในจำนวน 12,315.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share