คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8183/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและ ค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 บัญญัติขึ้นโดยมีเจตนารมณ์เพื่อรับรองสิทธิในการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐของบุคคลซึ่งได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่นโดยตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดนั้น และไม่มีโอกาสได้รับการบรรเทาความเสียหายโดยทางอื่น รวมทั้งการรับรองสิทธิในการได้รับค่าทดแทนในกรณีของบุคคลซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีอาญาและถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี หากปรากฏตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด และการรับรองสิทธิดังกล่าวนี้ก็เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหลายฉบับ ดังนั้น เงินที่จะได้รับตามพระราชบัญญัตินี้จึงเป็นเงินที่รัฐจ่ายเป็นค่าทดแทนให้แก่จำเลยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม สิทธิของจำเลยที่จะได้รับเงินนั้น จึงเป็นสิทธิที่มีความสำคัญยิ่งกว่าสิทธิของลูกหนี้ในทรัพย์สินบางประเภทที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี เงินดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นเงินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 285 (4)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนทองรูปพรรณแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาทองคำน้ำหนัก 35 บาท หากคืนไม่ได้อีกให้ชำระเงิน 262,931 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 227,400 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 กรกฎาคม 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 600 บาท จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ต่อมาศาลออกคำบังคับและหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี และปรากฏว่าในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นจำเลยในข้อหายักยอกรวม 3 คดี อันเป็นมูลคดีเดียวกับคดีแพ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องทั้ง 3 คดี และคดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยทั้งสองได้ยื่นขอรับเงินค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและ ค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาวินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายรวมจำนวน 200,000 บาท โจทก์จึงขอให้บังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายจำนวนดังกล่าวของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องคัดค้านการอายัดเงินค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งยกคำร้องเพราะเหตุเงินดังกล่าวมิได้เป็นเงินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า เงินค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยทั้งสองในคดีอาญาเป็นทรัพย์สินที่โอนกันไม่ได้ตามกฎหมาย และไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 285 (4) คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่ชอบ ให้เพิกถอนการอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยทั้งสองในคดีอาญา แจ้งคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของจำเลยทั้งสองโดยให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการบังคับคดีต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า เงินค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายที่จำเลยทั้งสองมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า เงินค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายที่จำเลยทั้งสองมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัติ ดังกล่าวมีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญรองรับสิทธิในการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ จึงต้องนำเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาวินิจฉัยประกอบด้วย เห็นว่า พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 บัญญัติขึ้นโดยมีเจตนารมณ์เพื่อรับรองสิทธิในการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐของบุคคลซึ่งได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่นโดยตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดนั้น และไม่มีโอกาสได้รับการบรรเทาความเสียหายโดยทางอื่น รวมทั้งการรับรองสิทธิในการได้รับค่าทดแทนในกรณีของบุคคลซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีอาญาและถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี หากปรากฏตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด และการรับรองสิทธิดังกล่าวนี้ก็เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหลายฉบับ ดังนั้น เงินที่จำเลยจะได้รับตามพระราชบัญญัตินี้จึงเป็นเงินที่รัฐจ่ายเป็นค่าทดแทนให้แก่จำเลยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมสิทธิของจำเลยที่จะได้รับเงินนั้นจึงเป็นสิทธิที่มีความสำคัญยิ่งกว่าสิทธิของลูกหนี้ในทรัพย์สินบางประเภทที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี เงินดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นเงินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 285 (4)ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นมิได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียม ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษากลับ ให้บังคับตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share