แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 135 บัญญัติว่า “เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอ ศาลมีอำนาจสั่งยกเลิกการล้มละลายได้ ถ้าปรากฏเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้… (3) หนี้สินของบุคคลล้มละลายได้ชำระเต็มจำนวนแล้ว…” นั้น หมายความถึง การดำเนินการชำระหนี้จนเต็มจำนวนภายใต้กระบวนพิจารณาและวิธีการในคดีล้มละลายที่มีการตรวจสอบได้ทั้งจากผู้มีส่วนได้เสีย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และศาล เนื่องจากหากมีการยกเลิกการล้มละลายตามอนุมาตรานี้ จำเลยจะหลุดพ้นจากหนี้สินตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 136 ดังนั้น จำเลยที่จะได้รับประโยชน์เช่นนี้จึงเป็นจำเลยที่ดำเนินการอยู่ภายใต้กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายและการตรวจสอบตามกฎหมาย
คดีนี้มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ต่อมาเจ้าหนี้ยื่นคำร้องเพื่อขอถอนคำขอรับชำระหนี้ จนไม่มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เหลืออยู่ จึงไม่มีการดำเนินการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทุกรายเต็มจำนวนโดยตรงภายใต้กระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย แต่เป็นกรณีที่ไม่มีเจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายจึงมีเหตุที่ลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลาย ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจรายงานศาลเพื่อสั่งยกเลิกการล้มละลายได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 135 (2) ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งแก้ไขคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของจำเลยโดยให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 135 (3) จึงไม่ถูกต้อง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจาก ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2550 และมีคำพิพากษาให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2551 ต่อมาวันที่ 27 ตุลาคม 2552 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของจำเลย ตามรายงานของผู้คัดค้าน
จำเลยยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 135 (3) คำวินิจฉัยและการกระทำของผู้คัดค้านที่รายงานไปยังศาลจึงไม่ชอบ ขอให้มีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของจำเลยให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 135 (3)
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้แก้ไขการยกเลิกการล้มละลายของจำเลย จากมาตรา 135 (2) เป็น มาตรา 135 (3) ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านมีว่า คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่แก้ไขคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของจำเลยโดยให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 135 (3) ชอบหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 135 บัญญัติว่า “เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอ ศาลมีอำนาจสั่งยกเลิกการล้มละลายได้ ถ้าปรากฏเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้… (3) หนี้สินของบุคคลล้มละลายได้ชำระเต็มจำนวนแล้ว…” นั้น หมายความถึง การดำเนินการชำระหนี้จนเต็มจำนวนภายใต้กระบวนพิจารณาและวิธีการในคดีล้มละลายที่มีการตรวจสอบได้ทั้งจากผู้มีส่วนได้เสีย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และศาล เนื่องจากหากมีการยกเลิกการล้มละลายตามอนุมาตรานี้ จำเลยจะหลุดพ้นจากหนี้สิน ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 136 ดังนั้น จำเลยที่จะได้รับประโยชน์เช่นนี้จึงเป็นจำเลยที่ดำเนินการอยู่ภายใต้กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายและการตรวจสอบตามกฎหมาย แต่ในคดีนี้มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ต่อมาเจ้าหนี้มายื่นคำร้องเพื่อขอถอนคำขอรับชำระหนี้ จนไม่มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เหลืออยู่ จึงไม่มีการดำเนินการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทุกรายเต็มจำนวนโดยตรงภายใต้กระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย แต่เป็นกรณีที่ไม่มีเจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายจึงมีเหตุที่ลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลาย ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจรายงานศาลเพื่อสั่งยกเลิกการล้มละลายได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 135 (2) อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังขึ้น การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งแก้ไขคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของจำเลยโดยให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 135 (3) จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกเลิกการล้มละลายของจำเลย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 135 (2) ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ