คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15164/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทำงานเป็นพนักงานนวดสปา จำเลยไม่มีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่าด้วยการมาทำงาน การลาหยุดและวันหยุด โจทก์จะมาทำงานหรือไม่ก็ได้ เมื่อมาทำงานแล้วโจทก์จะกลับไปก็เพียงแจ้งให้ผู้จัดการของจำเลยทราบ วันใดที่โจทก์ไม่มาทำงานก็จะไม่มีค่าแรงแบ่งให้ โจทก์ขาดงานโดยไม่แจ้งผู้จัดการของจำเลยทราบก็ไม่มีบทลงโทษโจทก์ จำเลยไม่มีอำนาจบังคับบัญชาโจทก์ การที่จำเลยจัดคิวทำงานก่อนหลังให้แก่พนักงานซึ่งรวมถึงโจทก์ด้วยเป็นการจัดลำดับการทำงานก่อนหลังของพนักงานเพื่อความเป็นระเบียบทั้งป้องกันการทะเลาะวิวาทกัน ไม่ใช่การใช้อำนาจบังคับบัญชา เมื่อจำเลยไม่มีอำนาจบังคับบัญชาโจทก์อย่างลูกจ้าง ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมิใช่นายจ้างลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 84,240 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 29,120 บาท และอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 55,120 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 84,240 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 29,120 บาท และอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 55,120 บาท นับแต่วันฟ้องคือวันที่ 24 มกราคม 2554 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 8 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยไม่มีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่าด้วยการมาทำงาน การลาหยุด และวันหยุดงาน การมาทำงานโจทก์จะมาทำงานหรือไม่ก็ได้ เมื่อมาทำงานแล้วโจทก์จะกลับไปก็เพียงแจ้งให้ผู้จัดการของจำเลยทราบ วันใดที่โจทก์ไม่มาทำงานก็จะไม่มีค่าแรงแบ่งให้ หากโจทก์ขาดงานโดยไม่แจ้งให้ผู้จัดการของจำเลยทราบจำเลยก็ไม่มีบทลงโทษโจทก์ จำเลยไม่มีอำนาจบังคับบัญชาโจทก์ เมื่อพนักงานของจำเลยเข้าทำงานรวมถึงโจทก์ด้วยจำเลยจะจัดคิวทำงานก่อนหลังให้แก่พนักงาน ซึ่งการจัดคิวของจำเลยมิใช่การใช้อำนาจบังคับบัญชาแต่เป็นการจัดลำดับการทำงานก่อนหลังของพนักงานเพื่อความเป็นระเบียบทั้งป้องกันการทะเลาะกันเมื่อจำเลยไม่มีอำนาจบังคับบัญชาโจทก์อย่างลูกจ้าง ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลย จึงมิใช่นายจ้างลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่ศาลแรงงานภาค 8 วินิจฉัยว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยนั้น จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นและอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share