คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1252/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรรมการของโจทก์เคยเป็นกรรมการของบริษัท ร. ซึ่งได้กระทำการเป็นผลเสียหายแก่การค้าระหว่างประเทศ โจทก์จึงอยู่ในข่ายที่จำเลยที่ 1 ไม่อาจออกใบอนุญาตส่งข้าวออกไปจำหน่ายต่างประเทศได้ ที่จำเลยที่ 1 ไม่ออกใบอนุญาตให้โจทก์ส่งข้าวออกไปนอกราชอาณาจักร จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์
คำสั่งทางปกครองของจำเลยที่ 1 ที่มีคำสั่งระงับการออกใบอนุญาตให้ส่งสินค้า (ข้าว) ออกไปนอกราชอาณาจักรแก่โจทก์ เนื่องจากโจทก์มีกรรมการของตนเป็นกรรมการของบริษัท ร. ซึ่งถูกกล่าวหาว่าได้กระทำการใด ๆ ที่เป็นผลเสียหายแก่การค้าระหว่างประเทศ โจทก์จึงขาดคุณสมบัติเป็นผู้ส่งออกข้าวไปนอกราชอาณาจักร ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 37 วรรคสาม (2) แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ที่ว่าเหตุผลนั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้วโดยไม่จำต้องระบุอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือที่ พณ 0303/3444 ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2540 และให้โจทก์ได้รับใบอนุญาตส่งข้าวออกตามปกติต่อไป ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 74,740,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นรายปี ปีละ 5,000,000 บาท นับแต่ปีที่ฟ้องคดีจนกว่าจะครบกำหนด 10 ปี
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความให้ 100,000 บาท
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งระงับการออกใบอนุญาตส่งออกข้าวให้แก่โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 1 โดยความเห็นชอบของจำเลยที่ 2 ได้แจ้งแก่โจทก์ ตามหนังสือที่ พณ 0303/3444 ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2540 และให้จำเลยทั้งสองรับพิจารณาคำขออนุญาตส่งข้าวออกให้แก่โจทก์ในโอกาสต่อไปตามปกติ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 150,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ระงับใบอนุญาตให้ส่งข้าวออกไปนอกราชอาณาจักรแก่โจทก์ชอบหรือไม่ เห็นว่า ผู้กระทำการใดๆ ที่เป็นผลเสียหายแก่การค้าระหว่างประเทศตามความหมายของกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2523) ข้อ 3 ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 มิได้หมายถึงแต่บุคคลที่ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเป็นที่สุดแล้วว่า เป็นผู้กระทำการใดๆ ที่เป็นผลเสียหายแก่การค้าระหว่างประเทศแต่เพียงอย่างเดียว เพราะมิฉะนั้นแล้ว บุคคลซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่การค้าระหว่างประเทศแต่มิได้ถูกฟ้องร้องต่อศาล ก็ยังคงมีคุณสมบัติเป็นผู้ขอรับใบอนุญาตส่งข้าวออกไปนอกราชอาณาจักรได้ตลอดไป กฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2523) ข้อ 3 จะไร้ผลบังคับโดยสิ้นเชิง ดังนั้น จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจพิจารณาได้ว่า การกระทำของบริษัทโรงสีไฟชัยประสิทธิ์ จำกัด ก่อให้เกิดความเสียหายแก่การค้าระหว่างประเทศหรือไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การกระทำของบริษัทโรงสีไฟชัยประสิทธิ์ จำกัด ดังกล่าวเป็นผลเสียหายแก่การค้าระหว่างประเทศประกอบกับโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำโดยเลือกปฏิบัติหรือไม่สุจริตอย่างไร กรณีจึงต้องถือว่าเป็นคำสั่งการวินิจฉัยโดยชอบ และเมื่อกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2523) ข้อ 3 วรรคสอง ระบุว่า ในกรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นนิติบุคคล กรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลนั้นต้องเป็นผู้ซึ่งไม่เคยเป็นกรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลที่เคยกระทำการใดๆ ที่เป็นผลเสียหายแก่การค้าระหว่างประเทศมาก่อน ดังนั้น แม้โจทก์และกรรมการโจทก์จะไม่เคยกระทำการใดๆ ที่เป็นผลเสียหายแก่การค้าระหว่างประเทศ แต่เมื่อกรรมการของโจทก์เคยเป็นกรรมการในบริษัทโรงสีไฟชัยประสิทธิ์ จำกัด ซึ่งได้กระทำการเป็นผลเสียหายแก่การค้าระหว่างประเทศ การวินิจฉัยของจำเลยที่ 1 ที่วินิจฉัยว่า โจทก์อยู่ในข่ายที่จำเลยที่ 1 ไม่อาจออกใบอนุญาตส่งข้าวออกไปจำหน่ายต่างประเทศได้จึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยโดยไม่ชอบสำหรับข้อที่โจทก์แก้ฎีกาว่า ระเบียบกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการส่งข้าวออกไปนอกราชอาณาจักร (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2540 ขัดต่อกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2523) และมาตรา 7 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 ก็ดี กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2523) ข้อ 3 ไม่ใช่บทลงโทษแต่เป็นเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตก็ดี โจทก์เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนประเด็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นคู่กรณีในคดีแพ่งที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นจะออกคำสั่งทางปกครองพิพาทไม่ได้เพราะต้องห้ามตามมาตรา 13 (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 มิใช่คู่กรณีในคดีแพ่งกับโจทก์ หากแต่เป็นคู่กรณีกับบริษัทโรงสีไฟชัยประสิทธิ์ จำกัด กรณีจึงไม่มีเหตุต้องห้ามตามมาตรา 13 (1) ดังที่โจทก์อ้าง นอกจากนี้ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองออกคำสั่งตามเอกสารหมาย จ.17 โดยมิชอบเพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองจงใจกระทำให้โจทก์เสียหาย ไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ ประเด็นอื่นไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาในประเด็นค่าเสียหายของโจทก์ต่อไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share