คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6660/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในวันครบกำหนดการใช้เงินตามเช็คพิพาท โจทก์ร่วมได้นำเช็ค ไปเบิกเงิน แต่ปรากฎว่าเงินในบัญชีของจำเลยมีไม่พอจ่าย ธนาคารซึ่งมีหน้าที่ต้องใช้เงินตามเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 991 จึงให้ไปติดต่อกับผู้สั่งจ่ายก่อน กรณีเช่นนี้ถือว่าธนาคารได้ปฎิเสธการใช้เงินตามเช็คนั้นแล้ว แม้จะเป็นการปฎิเสธด้วยวาจาก็ตาม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช็คและตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าการปฎิเสธการใช้เงินตามเช็คนั้นต้องทำเป็นหนังสือ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
จำเลยให้การปฎิเสธ
ระหว่างการพิจารณา นางบุญยัง เชื้อจำรูญ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4ให้จำคุก 1 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาชัยภูมิลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2536 จำนวนเงิน 50,000 บาท ต่อมาธนาคารได้ปฎิเสธไม่ใช้เงินตามเช็ค โจทก์ร่วมได้นำเช็คพิพาทดังกล่าวไปร้องทุกข์ต่อร้อยตำรวจเอกณัฐพล กิ่งโชคพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2536
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ในข้อนี้ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ร่วมว่าเมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2536 โจทก์ร่วมได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารในวันนั้น ธนาคารแจ้งว่าเช็คยังเรียกเก็บเงินไม่ได้ให้ไปติดต่อผู้สั่งจ่ายเสียก่อนโจทก์ร่วมจึงขอรับเช็คคืน ซึ่งต่อมาโจทก์ร่วมได้นำเช็คไปเรียกเก็บจากธนาคารอีกในวันที่ 20 เดือนเดียวกัน แต่ธนาคารคงปฎิเสธไม่ใช้เงินเหมือนเดิมผลที่สุดโจทก์ร่วมนำเช็คไปเรียกเก็บเงินเป็นครั้งสุดท้ายในวันที่ 22 มีนาคม 2536แล้วให้ธนาคารออกหลักฐานการปฎิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คโดยให้เหตุผลว่า โปรดติดต่อผู้สั่งจ่ายตามเอกสารหมาย จ.16เห็นว่า ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2536 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดการใช้เงินตามเช็ค โจทก์ร่วมได้นำเช็คไปเบิกเงิน ธนาคารมีหน้าที่ต้องใช้เงินตามเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 991 แต่ปรากฎว่าเงินในบัญชีของจำเลยมีไม่พอจ่ายจึงให้ไปติดต่อกับผู้สั่งจ่ายก่อนกรณีเช่นนี้ถือว่าธนาคารได้ปฎิเสธการใช้เงินตามเช็คนั้นแล้ว แม้จะเป็นการปฎิเสธด้วยวาจาเนื่องจากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช็คก็ดี หรือพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คก็ดี หาได้บัญญัติไว้ว่าการปฎิเสธการใช้เงินตามเช็คนั้นต้องทำเป็นหนังสือไม่ การกระทำความผิดของจำเลยจึงเกิดขึ้นตั้งแต่วันนั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าโจทก์ร่วมเพิ่งร้องทุกข์ในวันที่8 มิถุนายน 2536 จึงเกินกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวว่าจำเลยกระทำความผิด คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96
พิพากษายืน

Share