คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 664/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 270 และพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ.2466 มาตรา 31 นั้นการมี เครื่องชั่งที่ผิดอัตราหรือไม่ถูกต้องตามความประสงค์ของกฎหมายไว้ในความครอบครองจะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อเป็นการมีไว้เพื่อใช้เอาเปรียบในการค้าหรือในกิจการดังที่กฎหมายระบุไว้เท่านั้น แต่คำฟ้องของโจทก์ในข้อหาฐานนี้โจทก์หาได้บรรยายถึงข้อความดังกล่าวนี้ไม่ ถึงแม้คำฟ้องตอนหลังจะมีข้อความว่า “จำเลยได้ใช้เครื่องชั่งดังกล่าวนี้ทำการชั่งสินค้าเบ็ดเตล็ดต่างๆ ขายในกิจการค้าอันต่อเนื่องกับผู้อื่นและในพาณิชกิจของจำเลย ฯลฯ” ก็ตามแต่คำบรรยายฟ้องตอนหลังนี้ก็เป็นการบรรยายถึงความผิดฐานใช้อีกข้อหาหนึ่ง การที่จะพิจารณาว่าคำฟ้องในความผิดฐานใดครบองค์ประกอบความผิดหรือไม่ต้องพิจารณาเป็นรายกระทงไม่ใช่พิจารณารวมกัน เมื่อคำบรรยายฟ้องในความผิดฐานมีไว้เพื่อใช้ซึ่งเครื่องชั่งที่ผิดกฎหมายขาดองค์ประกอบความผิดดังกล่าวแล้ว คำฟ้องสำหรับความผิดฐานนี้ย่อมไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้บังอาจมีเครื่องชั่งชนิดที่ ๖ คือเครื่องชั่งสปริงซึ่งมีเข็มชี้อัตราน้ำหนักตามหน้าปัด และมีพิกัดกำลัง ๓๕ กิโลกรัม ๑ เครื่องไว้ในความครอบครองของจำเลย ซึ่งเป็นเครื่องชั่งที่ผิดอัตราไม่ถูกต้องตามความประสงค์ทุกประการของพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. ๒๔๖๖ กล่าวคือ เมื่อใช้ทำการชั่งอัตราน้ำหนัก ๑ – ๒ กิโลกรัม น้ำหนักขาด ๒๐๐ กรัมชั่งน้ำหนัก ๔ – ๕ กิโลกรัม น้ำหนักขาด ๒๓๐ กรัม ชั่งน้ำหนัก ๑๐ – ๒๐ กิโลกรัมน้ำหนักขาด ๓๐๐ กรัม โดยจำเลยได้ใช้เครื่องชั่งดังกล่าวนี้ทำการชั่งสินค้าเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ ขายในกิจการค้าอันต่อเนื่องกับผู้อื่นและในพาณิชกิจของจำเลยโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นเครื่องชั่งที่ผิดอัตราและเพื่อเอาเปรียบในการค้า เหตุเกิดที่ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้พร้อมด้วยเครื่องชั่งดังกล่าวเป็นของกลางขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. ๒๔๖๖ มาตรา ๓๑, ๓๘ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๐, ๙๑ และขอให้ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานมีเครื่องชั่งซึ่งไม่ถูกต้องตามความประสงค์แห่งพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. ๒๔๖๖ มาตรา ๓๑ กับฐานมีเครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๐ และมีความผิดฐานใช้เครื่องชั่งซึ่งไม่ถูกต้องตามความประสงค์แห่งพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. ๒๔๖๖ มาตรา ๓๑ กับฐานใช้เครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๐ การกระทำของจำเลยเป็นทั้งกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันด้วย จึงให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดและลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ และ ๙๑ ความผิดฐานมีเครื่องชั่งที่ไม่ถูกต้องและผิดอัตรา ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๗๐ ซึ่งเป็นบทหนักจำคุก ๖ เดือน ความผิดฐานใช้เครื่องชั่งไม่ถูกต้องและผิดอัตราให้ลงโทษตามมาตรา ๒๗๐ ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก ๖ เดือน รวมจำคุก๑ ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา ๗๘ คงจำคุก ๖ เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ ขอให้ลงโทษในสถานเบาและขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ได้บรรยายการกระทำผิดของจำเลยฐานใช้มาอย่างเดียว ไม่ได้ฟ้องในความผิดฐานมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำผิดด้วยการกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องใช้กฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานมีเครื่องชั่งผิดกฎหมายไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยผิดฐานใช้เครื่องชั่งไม่ถูกต้องและผิดอัตราจำคุก ๖ เดือน ปรับ ๑,๐๐๐ บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๓ เดือน ปรับ ๕๐๐บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ มีกำหนด ๑ ปี ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙, ๓๐ ริบของกลาง
โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องในความผิดฐานมีเครื่องชั่งที่ผิดอัตราและไม่ถูกต้องตามความประสงค์ของกฎหมายครบองค์ประกอบความผิดทุกประการแล้ว จำเลยจึงต้องมีความผิดฐานนี้อีกกรรมหนึ่งด้วย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๐ บัญญัติว่า “ผู้ใดใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ซึ่งเครื่องชั่ง เครื่องตวง หรือเครื่องวัดที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้า ฯลฯ” และพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. ๒๔๖๖ มาตรา ๓๑ บัญญัติว่า “ผู้ใดผู้หนึ่ง ในกิจการต่อเนื่องกับผู้อื่น ฤาในพาณิชกิจใด ๆ กระทำการชั่ง ตวง วัด โดยใช้เครื่องชั่งเครื่องตวง เครื่องวัด ฤาสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งไม่ถูกต้องตามความประสงค์ทุกประการของพระราชบัญญัตินี้ก็ดี ฤาผู้ใดผู้หนึ่งมีเครื่องชั่ง เครื่องตวงเครื่องวัด ดังที่กล่าวมานั้นไว้ในความปกครองของตนเพื่อใช้ในกิจการต่อเนื่องกับผู้อื่น ฤาในพาณิชกิจใด ๆ ก็ดีท่านว่ามีความผิด ฯลฯ” ตามบทกฎหมายดังกล่าวนี้จะเห็นได้ว่าการมีเครื่องชั่งที่ผิดอัตราหรือไม่ถูกต้องตามความประสงค์ของกฎหมายไว้ในความครอบครองนั้นจะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อเป็นการมีไว้เพื่อใช้เพื่อเอาเปรียบในการค้า หรือในกิจการดังที่กฎหมายระบุไว้เท่านั้น แต่คำฟ้องของโจทก์ในข้อหาฐานนี้โจทก์หาได้บรรยายถึงข้อความดังกล่าวนี้ไม่ ถึงแม้คำฟ้องตอนหลังจะมีข้อความว่า “จำเลยได้ใช้เครื่องดังกล่าวนี้ทำการชั่งสินค้าเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ ขายในกิจการค้าอันต่อเนื่องกับผู้อื่นและในพาณิชกิจของจำเลย ฯลฯ” ก็ตามแต่คำบรรยายฟ้องตอนหลังนี้ก็เป็นการบรรยายถึงความผิดฐานใช้อีกข้อหาหนึ่งที่โจทก์อ้างว่าข้อความตอนนี้เป็นการบรรยายฟ้องเชื่อมโยงกันในความผิดทั้งสองฐานก็ฟังไม่ขึ้นเพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๖๐ วรรคแรกบัญญัติว่า “ความผิดหลายกระทงจะรวมในฟ้องเดียวกันก็ได้ แต่ให้แยกกระทงเรียงเป็นลำดับกันไป” ฉะนั้น การที่จะพิจารณาว่าคำฟ้องในความผิดฐานใดครบองค์ประกอบความผิดหรือไม่จึงต้องพิจารณาเป็นรายกระทง ไม่ใช่พิจารณารวมกัน เมื่อคำบรรยายฟ้องในความผิดฐานมีไว้เพื่อใช้ซึ่งเครื่องชั่งที่ผิดกฎหมายขาดองค์ประกอบความผิดดังกล่าวแล้วคำฟ้องสำหรับความผิดฐานนี้ย่อมไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘(๕) ที่ศาลอุทธรณ์ไม่ลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน

Share