คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3500/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยสั่งอาวุธปืนซึ่งเป็นของต้องจำกัดตามพระราชบัญญัติศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยใช้ใบอนุญาตอันเป็นหนังสือราชการปลอม แม้จำเลยจะได้ชำระค่าภาษีศุลกากรครบถ้วนเนื่องจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรเข้าใจผิดไปว่าอาวุธปืนนั้นได้รับอนุญาตให้นำเข้าถูกต้องตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยก็เป็นการกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้ามหรือข้อจำกัดอันเกี่ยวกับของนั้นครบองค์ประกอบความผิดฐานนำของต้องจำกัดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 27 แล้ว
การที่จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้นำเข้าในใบขนสินค้าขาเข้าโดยระบุชนิดของอาวุธปืน จำนวน ขนาด ประเทศที่ผลิตหรือสั่งซื้อผิดไปจากใบอนุญาตที่แท้จริง ถือได้ว่าเป็นการสำแดงความเท็จหรือไม่สมบูรณ์ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 99 แล้วและเป็นความผิดโดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยมีเจตนาหรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือหาไม่

ย่อยาว

คดีทั้งสี่สำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันโดยโจทก์ทั้งสีสำนวนฟ้องมีใจความอย่างเดียวกันว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ได้ร่วมกันทำปลอมใบอนุญาตให้สั่งหรือนำเข้าซึ่งอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนฯ (แบบ ป.๒) และใช้เอกสารปลอมดังกล่าวไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด เพื่อให้ติดต่อสั่งอาวุธปืนจากต่างประเทศซึ่งเป็นของต้องจำกัดมิให้นำเข้า และต่อมาเมื่อบริษัทในต่างประเทศได้ส่งอาวุธปืนมาให้ตามที่จำเลยสั่งแล้ว จำเลยทั้งสองได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำด่านศุลกากรท่าอากาศยานกรุงเทพพร้อมกับแบบ ป.๒ ปลอม เป็นอาวุธปืนพกรวม ๗๑๖ กระบอกเป็นเงิน ๑,๑๖๖,๗๔๙.๑๙ บาท และค่าภาษีเป็นเงิน ๔๙๙,๙๕๓.๑๙ บาทซึ่งเป็นความเท็จ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๘, ๘๓ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑พฤศจิกายน ๒๕๑๘ ข้อ ๒ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗,๒๔, ๗๒, ๗๓ พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๑ มาตรา ๖พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๗ มาตรา ๓ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๔ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ข้อ ๖, ๘ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗, ๙๙พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๑๖พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๔พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. ๒๔๘๗มาตรา ๔, ๕, ๖, ๗, ๘, ๙ ริบของกลาง จ่ายเงินสินบนให้แก่ผู้แจ้งความเพื่อขอรับเงินสินบนกับจ่ายเงินรางวัลให้เจ้าพนักงานผู้จับและให้นับโทษแต่ละสำนวนติดต่อกัน
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธทั้งสี่สำนวน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๙๙ ให้เรียงกระทงไปตามสำนวนแต่ละสำนวนไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ รวมเป็น ๔ กระทงให้ปรับจำเลยที่ ๑ กระทงละ ๑๕,๐๐๐ บาท ปรับจำเลยที่ ๒ กระทงละ ๑๐,๐๐๐ บาท รวมปรับจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๖๐,๐๐๐ บาท ปรับจำเลยที่ ๒ เป็นเงิน ๔๐,๐๐๐ บาท ริบของกลาง และให้จ่ายเงินสินบนนำจับให้แก่ผู้แจ้งความนำจับ กับจ่ายเงินให้แก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมายข้อหาอื่นให้ยกทุกข้อหา
โจทก์และจำเลยทั้งสองทั้งสี่สำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานสำแดงเท็จตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๙๙ ของกลางคืนเจ้าของ และไม่จ่ายสินบนและเงินรางวัล นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสี่สำนวนฎีกา โดยอธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่า มีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย
ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงว่า ต้นฉบับใบอนุญาตแบบ ป.๒ ท่อน ๓ ที่จำเลยรับรองสำเนาถูกต้องนั้นเป็นเอกสารปลอม แต่พยานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร และการที่จำเลยทั้งสองนำเอกสารดังกล่าวไปแสดงต่อธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สำนักงานใหญ่ กับนำไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรโดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากเอกสารปลอมนั้นทั้งได้ใช้เอกสารปลอมหลายครั้งหลายหนและหลายฉบับด้วยกัน แสดงว่าจำเลยทั้งสองใช้ใบอนุญาตแบบ ป.๒ โดยรู้อยู่ว่าเป็นเอกสารที่ทำปลอมขึ้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมรวม ๘ กระทง และสำหรับปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันสั่งและนำมาซึ่งอาวุธปืนเพื่อการค้า อันเป็นของต้องจำกัดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ หรือไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า อาวุธปืนเป็นของต้องจำกัดตามความหมายของพระราชบัญญัติศุลกากรดังกล่าวเมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองสั่งอาวุธปืนเข้ามาในราชอาณาจักรโดยใช้ใบอนุญาตอันเป็นหนังสือราชการปลอการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานกระทำด้วยประการใด ๆ ในการหลีกเลี่ยงข้อห้ามหรือข้อจำกัดอันเกี่ยวแก่ของนั้นแม้จำเลยทั้งสองจะได้ชำระค่าภาษีศุลกากรครบถ้วนแล้ว ก็เนื่องจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรอาจเข้าใจผิดไปว่าอาวุธปืนอันเป็นของต้องจำกัดนั้นได้รับอนุญาตให้นำเข้าถูกต้องตามกฎหมายดังได้วินิจฉัยมาแล้วจำเลยทั้งสองจึงยังหาพ้นจากความผิดดังกล่าวไปไม่ เพราะการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้ามหรือข้อจำกัดอันเกี่ยวกับของนั้นครบองค์ประกอบเกี่ยวกับความผิดฐานนำของต้องจำกัดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นประการสุดท้ายคือ จำเลยทั้งสองจะมีความผิดฐานร่วมกันสำแดงเท็จตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๙๙ หรือไม่นั้นศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองสั่งอาวุธปืนเข้ามาในราชอาณาจักรโดยใช้ใบอนุญาตอันเป็นหนังสือราชการปลอม โดยจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อเป็นผู้นำเข้าในใบขนสินค้าขาเข้าระบุชนิดของอาวุธปืนจำนวน ขนาด ประเทศที่ผลิตหรือสั่งซื้อให้ผิดไปจากใบอนุญาตที่แท้จริง ถือได้ว่าเป็นการสำแดงความเท็จหรือความไม่สมบูรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๙ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ ซึ่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๑๖ บัญญัติว่า ให้ถือว่าเป็นความผิดโดยมิพักต้องคำนึงว่าผู้กระทำมีเจตนาหรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือหาไม่ ฉะนั้นจำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว และความผิดฐานนี้เป็นกรรมเดียวกันกับความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ จึงต้องลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐แต่ในความผิดดังกล่าวข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำ๔ ครั้ง จึงเป็นความผิดรวม ๔ กระทงด้วยกัน ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๖๘ วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๕ การกระทำของจำเลยทั้งสองฐานใช้เอกสารราชการปลอมเป็นความผิดรวม ๘ กระทง ลงโทษปรับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนิติบุคคลกระทงละ ๒,๐๐๐ บาท จำคุกจำเลยที่ ๒ กระทงละ ๑ ปี และจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖ มาตรา ๒๗, ๙๙ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๗ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานนี้เป็นความผิดรวม ๔ กระทง ให้ปรับจำเลยที่ ๑ สี่เท่าของราคาอาวุธปืน รวมค่าอากรรวม ๔ กระทง เป็นเงิน ๖,๖๖๖,๘๐๙.๕๒ บาท จำคุกจำเลยที่ ๒ กระทงละ๑ ปี รวมปรับจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๖,๖๘๒,๘๐๙.๕๒ บาท จำคุกจำเลยที่ ๒ รวม ๑๒ ปี หากจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระค่าปรับให้ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับตามมาตรา ๒๙ ริบของกลาง และให้จ่ายเงินสินบนแก่ผู้แจ้งความเพื่อขอรับเงินสินบน กับจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share