คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 623/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยลงพิมพ์โฆษณาข้อความในหนังสือพิมพ์ตอนแรกความว่า2… มีหวังคุก… นายสมศักดิ์เตชะรัตนประเสริฐ (นามสกุลยาวเป็นวาตามประสา’เจ๊ก’ใช้’แซ่’ แต่เปลี่ยน นามสกุลเป็นไทย) ฟ้องนายสนิท เอกชัย’กัปตัน”เดลิไทม์’ ต่อศาลสงขลา หาว่าใช้นามปากกา ‘เรือขุด’ ส่วนข้อความตอนหลังมีว่า แฉเบื้องหลังสร้างตัวจาก’เจ๊กกุ๊ย’ ขึ้นมาเป็น ‘เศรษฐีใหญ่’ ร่ำรวยมหาศาลมีอิทธิพลเหนือโปลิศ เพราะมันชอบเนรคุณแต่ทำตัวคลุกคลีกับนายธนาคารใหญ่ๆหาตัว ‘อ่อนๆ’ ป้อนให้ไม่ซ้ำหน้าระหว่างข้อความตอนแรกกับข้อความตอนหลัง มีเครื่องหมายขีดสั้นๆ 3 ขีด แล้วตามด้วยเครื่องหมายสี่เหลี่ยมจตุรัสคั่นไว้ ซึ่งเมื่ออ่านข้อความทั้งหมดประกอบกันแล้วจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าโจทก์เป็นคนจีนที่เลวทรามต่ำช้าเนรคุณจึงเป็นการใส่ความโจทก์โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังได้อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท หาใช่ดูหมิ่นซึ่งหน้าไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของ จำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกเดลิไทม์ และจำเลยที่ 3 เป็นผู้เขียน ข้อความอันเป็นหมิ่นประมาท โจทก์ลงในหนังสือพิมพ์ดังกล่าว ใส่ความว่าโจทก์เป็นคนจีนที่เลวทรามต่ำช้าชอบเนรคุณ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328, 332, 83, 86 และ 50 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 48

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 83 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 328 บทหนักที่สุดจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไว้มีกำหนดคนละ 2 เดือน และปรับจำเลยทั้งสามคนละ 2,000 บาท โทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 รอไว้คนละ 2 ปี

โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ลงพิมพ์โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดในหนังสือพิมพ์บางกอกเดลิไทม์เป็นเวลาเจ็ดวัน โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 2 ที่ 3 เอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีสำหรับจำเลยที่ 1 โจทก์มิได้ฎีกา และจำเลยที่ 1ก็มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แต่อย่างใด คดีสำหรับจำเลยที่ 1 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ส่วนคดีสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาได้เฉพาะข้อกฎหมาย ซึ่งมีว่า ข้อความที่โจทก์บรรยายไว้ในฟ้องเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ พิเคราะห์ข้อความตามที่โจทก์ฟ้องและในเอกสารหมาย จ.2 แล้ว เห็นว่า ข้อความดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ตอน ๆ แรกมีข้อความว่า มีหวังคุก นายสมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ (นามสกุลยาวเป็นวาตามประสา “เจ๊ก” ใช้ “แซ่” แต่เปลี่ยนนามสกุลเป็นไทย) ฟ้องนายสนิท เอกชัย “กัปตัน” “เดลิไทม์” ต่อศาลสงขลาหาว่า ใช้นามปากกา “เรือขุด” ส่วนข้อความตอนหลังมีว่า แฉเบื้องหลังสร้างตัวจาก “เจ๊กกุ๊ย” ขึ้นมาเป็น “เศรษฐีใหญ่” ร่ำรวยมหาศาลมีอิทธิพลเหนือโปลิศ เพราะมันชอบเนรคุณ แต่ทำตัวคลุกคลีกับนายธนาคารใหญ่ ๆหาตัว “อ่อน ๆ” ป้อนให้ไม่ซ้ำหน้า ระหว่างข้อความตอนแรกกับข้อความตอนหลังมีเครื่องหมายขีดสั้น ๆ 3 ขีด แล้วตามด้วยเครื่องหมายสี่เหลี่ยมจัตุรัสคั่นไว้ ซึ่งจำเลยเถียงว่าข้อความตอนหลังไม่ได้หมายถึงโจทก์ แต่เมื่อพิเคราะห์ดูแล้วเห็นได้ว่าข้อความตอนหลังขยายข้อความตอนแรก ซึ่งหมายถึงตัวโจทก์นั่นเอง แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2493 ให้ความหมายของคำว่า “เจ๊ก” ไว้ว่าเป็นคำเรียกชนชาติจีน ส่วนคำว่า “กุ๊ย” ให้ความหมายไว้ว่า ผีเปรต หมายถึง คนโซ คนเลวทราม ภาษาจีนว่า “ผี” ดังนั้น คำว่า “เจ๊กกุ๊ย” หมายถึงคนจีนที่เลวทรามต่ำช้า คนจีนที่อดโซ เมื่ออ่านข้อความทั้งสองตอนดังกล่าวข้างต้นประกอบกัน จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่า โจทก์เป็นคนจีนที่เลวทรามต่ำช้าชอบเนรคุณคน ซึ่งโจทก์หาใช่เป็นคนเช่นนั้นไม่ จึงเป็นการใส่ความโจทก์ โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังได้อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทคำพิพากษาฎีกาที่จำเลยทั้งสองอ้างมาในฎีกาข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ และกรณีเช่นนี้หาใช่เป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้าอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 ตามที่จำเลยฎีกาไม่ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว

พิพากษายืน และให้ยกฎีกาของจำเลยที่ 1

Share