แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)มีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากนาง จ. ภายในกำหนดระยะเวลาห้ามโอน การซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113(เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะทำสัญญา แม้นาง จ.จะสละสิทธิครอบครองก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้สิทธิครอบครอง จำเลยที่ 3 ซึ่งได้รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมไม่มีสิทธิครอบครองเช่นเดียวกัน โดยถือหลักว่า ผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากนางจ. หลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมายแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยที่ 3
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 253 โดยซื้อมาจากนางจันทร์เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2532 ก่อนที่โจทก์จะซื้อที่ดินดังกล่าวจำเลยที่ 1และที่ 2 ซึ่งเป็นสามีภริยากันได้ร่วมกันแจ้งความเท็จต่อเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอ ว่าที่ดิน น.ส.3 ดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 2ได้ซื้อมาจากนายเยิ้มสามีนางจันทร์จนเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอหัวหินหลงเชื่อจึงได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3ก.) ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละแปลงโดยทับที่ของโจทก์ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3แม้จำเลยที่ 3 จะได้จดทะเบียนการโอนโดยถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยที่ 3 ก็ไม่ได้สิทธิ ในที่ดินทั้งสองแปลงขอให้เพิกถอน น.ส.3 ก.เลขที่ 2988 และ 2989 และลบชื่อของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกจากทะเบียน กับให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดิน น.ส.3 ก. ดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ห้ามจำเลยทั้งสามเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินโจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดิน น.ส.3เลขที่ 253 เพราะนางจันทร์ไม่ใช่เจ้าของและไม่เคยครอบครองทำประโยชน์จึงไม่มีอำนาจขายที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ จำเลยที่ 1และที่ 2 ได้ซื้อที่ดินดังกล่าวจากนายเยิ้มตั้งแต่ปี 2521 และครอบครองทำประโยชน์ติดต่อกันมาจนถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2532จึงได้ขายที่ดินให้จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ได้ชำระค่าตอบแทนโดยสุจริตและครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน จำเลยที่ 3 จึงเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยชอบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) เลขที่ 2988 และ 2989 โดยโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)เลขที่ 253 และห้ามจำเลยทั้งสามเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินโจทก์
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เดิมนางจันทร์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท น.ส.3 เลขที่ 253 ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2520 ซึ่งที่ดินพิพาทห้ามไม่ให้โอนภายใน 10 ปีตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 วันที่ 17 เมษายน 2521 จำเลยที่ 1และที่ 2 อ้างว่าได้ซื้อที่ดินพิพาทจากนายเยิ้มสามีนางจันทร์แล้วขอให้เจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอหัวหินออก น.ส.3 ก.ให้เจ้าหน้าที่บริหารที่ดินอำเภอหัวหินได้ ออก น.ส.3 ก. ที่ดินพิพาทแบ่งเป็น 2 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละแปลงเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2521 วันที่ 21 เมษายน 2532 นางจันทร์ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ และวันที่ 20 มิถุนายน 2532จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 วันที่ 24กรกฎาคม 2532 โจทก์นำเจ้าพนักงานรังวัดที่ดินพิพาทเพื่อเปลี่ยนจาก น.ส.3 เป็น น.ส.3 ก. จำเลยที่ 3 คัดค้านอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนซื้อมาจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยชอบด้วยกฎหมาย มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่าโจทก์หรือจำเลยที่ 3เป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากันพิเคราะห์แล้วตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 334 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 บัญญัติห้ามไม่ให้ผู้ที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินอันสืบเนื่องมาจากใบจองตามมาตรา 30 และมาตรา 33 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นภายในสิบปี นอกจากตกทอดทางมรดก สำหรับที่ดินพิพาทปรากฏตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ว่า ทางราชการได้ออกให้แก่นางจันทร์ เมื่อวันที่12 เมษายน 2520 และกำหนดห้ามโอนให้แก่ผู้อื่นภายในสิบปี ดังนั้นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทจะโอนที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลอื่นก่อนวันที่ 13 เมษายน 2530 ไม่ได้ เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหากโอนไปก็ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา113 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะทำสัญญา ฟังว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากนางจันทร์จริง การซื้อขายก็ตกเป็นโมฆะไม่มีผลตามกฎหมายเพราะอยู่ในระหว่างระยะเวลากำหนดห้ามโอน แม้นางจันทร์จะสละสิทธิครอบครองก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ได้สิทธิครอบครอง จำเลยที่ 3 ซึ่งรับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมไม่ได้สิทธิครอบครองเช่นเดียวกันโดยถือหลักว่าผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน และคดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความตามที่จำเลยที่ 3 นำสืบว่า เมื่อวันที่ 17เมษายน 2521 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ยื่นคำร้องขอให้เจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอหัวหินออก น.ส.3 ก. ที่ดินพิพาทให้โดยอ้างว่าซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายเยิ้มสามีนางจันทร์และได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอหัวหินว่าที่ดินพิพาทไม่มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์หรือ น.ส.3 แต่อย่างใด เจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอหัวหินจึงได้ออก น.ส.3 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม2521 ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2รู้ดีว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินซึ่งมี น.ส.3 โดยมีชื่อนางจันทร์เป็นเจ้าของเพราะจำเลยที่ 1 เคยกู้เงินจากธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งนางจันทร์ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เพื่อให้นำที่ดินพิพาทไปจำนองค้ำประกันเงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2520 การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างต่อเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอหัวหินว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ไม่มีน.ส.3 จึงเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตหลอกเจ้าพนักงานให้หลงเชื่อจนกระทั่งออก น.ส.3 ก. ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท การที่จำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 แม้กระทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 3 ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเนื่องจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ที่ดินพิพาทมาด้วยวิธีการไม่ชอบด้วยกฎหมายเสียแล้วย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ แก่จำเลยที่ 3 ส่วนโจทก์ได้ซื้อที่ดินพิพาทจากนางจันทร์หลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมายแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยที่ 3
พิพากษายืน