แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินที่โจทก์นำยึดเป็นของผู้ร้องไม่ใช่ของจำเลยลูกหนี้ตามคำพิพากษา การบังคับคดีจึงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง เมื่อการบังคับคดียังไม่เสร็จสิ้นลงเพราะโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายังไม่ได้รับเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไป ผู้ร้องในฐานะผู้มีส่วนได้เสียซึ่งต้องเสียหายในการบังคับคดีย่อมมีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการบังคับคดีนั้นได้ แต่ต้องไม่ช้ากว่า 8 วันนับแต่ทราบการฝ่าฝืนนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง เมื่อศาลสั่งเพิกถอนการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ย่อมส่งผลให้การขายทอดตลาดสิ้นไป ฉะนั้น แม้ผู้ซื้อทรัพย์จะได้ซื้อที่ดินโดยสุจริตในการขายทอดตลาดก็ตาม ผู้ซื้อทรัพย์ก็ไม่มีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์ โจทก์ขอหมายบังคับคดีและขอให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนมาให้ศาลจังหวัดชลบุรีช่วยบังคับคดีให้และโจทก์ได้นำยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 2258 ตำบลบ้านเหมือง อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์ของจำเลยที่ 3เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายทอดตลาดที่ดินแปลงดังกล่าว ปรากฏว่านายตรีขวัญ บุนนาคเป็นผู้ซื้อได้
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าผู้ร้องกับจำเลยที่ 3 เป็นคนละคนกันผู้ร้องชื่อนายสนิท สาคร ส่วนจำเลยที่ 3 ชื่อนายสนิท สากรผู้ร้องไม่เคยเป็นหนี้โจทก์ และไม่เคยรู้จักโจทก์และจำเลยทั้งสามมาก่อน ทรัพย์ที่ยึดและขายทอดตลาดไปนั้นไม่ใช่เป็นของจำเลยที่ 3แต่เป็นของผู้ร้อง ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ เพิกถอนการขายทอดตลาดและถอนการยึด สั่งปล่อยทรัพย์รายนี้ให้แก่ผู้ร้อง
โจทก์คัดค้านว่าทรัพย์ที่ยึดเป็นของจำเลยที่ 3 ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 288 และร้องเกินกำหนดเวลาตามมาตรา 296 ขอให้ยกคำร้อง
ผู้ซื้อทรัพย์คัดค้านว่า ผู้ซื้อทรัพย์ได้ซื้อทรัพย์รายนี้โดยสุจริตจากการขายทอดตลาดของศาลย่อมได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของผู้ร้องแล้วมีคำสั่งว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องเมื่อกำหนดระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 288 และ 296 ผ่านพ้นไปแล้ว ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการยึดทรัพย์ที่ดินของผู้ร้องและยกเลิกการขายทอดตลาดทรัพย์รายนี้ตลอดจนคำสั่งทั้งหลายของศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการบังคับคดีครั้งนี้และปล่อยทรัพย์ที่ดินคืนให้แก่ผู้ร้องไป
ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า โจทก์ชนะคดีจำเลยทั้งสาม และได้นำยึดที่ดินโฉนดเลขที่2258 ตำบลบ้านเหมือง อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ของผู้ร้องมาขายทอดตลาดเพื่อเอาเงินชำระหนี้ โดยเข้าใจไปว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 3 ผู้ซื้อทรัพย์ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวได้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลชั้นต้น โดยมิได้รู้ว่าความจริงแล้วที่ดินแปลงนี้เป็นของผู้ร้อง ผู้ซื้อทรัพย์ได้วางเงินชำระราคาครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์ยังไม่ได้รับเงินไป ศาลชั้นต้นแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินให้ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนี้แก่ผู้ซื้อทรัพย์แล้ว แต่ยังไม่ได้จดทะเบียน ผู้ร้องได้มายื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เพิกถอนการขายทอดตลาด ถอนการยึด และสั่งปล่อยทรัพย์รายนี้ให้ผู้ร้องคดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ว่า ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องดังกล่าวภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ และผู้ซื้อทรัพย์มีสิทธิจะได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 หรือไม่ สำหรับประเด็นแรกนั้น ที่ดินที่โจทก์นำยึดเป็นของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ใช่ของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา การบังคับคดีรายนี้จึงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ผู้ร้องในฐานะผู้มีส่วนได้เสียซึ่งต้องเสียหายในการบังคับคดีนั้นย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกกระบวนวิธีการบังคับคดีนั้นได้ก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่า 8 วันนับแต่ทราบการฝ่าฝืนนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสองการบังคับคดียังไม่เสร็จสิ้นลงเพราะโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายังไม่ได้รับเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไป และวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การที่โจทก์นำยึดที่ดินของผู้ร้องไปขายทอดตลาดนั้น ผู้ร้องเพิ่งทราบเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2531 โดยการไปตรวจดูหลักฐาน ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี ผู้ร้องยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2531 ฉะนั้น จึงเป็นการยื่นภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนประเด็นที่สองที่ว่า ผู้ซื้อทรัพย์มีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 หรือไม่นั้น เห็นว่า การขายทอดตลาดรายนี้เป็นการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนกฎหมายซึ่งศาลจะต้องสั่งเพิกถอนเสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 วรรคสอง และย่อมส่งผลให้การขายทอดตลาดสิ้นผลไป ฉะนั้นแม้ผู้ซื้อทรัพย์จะได้ซื้อที่ดินโดยสุจริตในการขายทอดตลาดก็ตามแต่เมื่อการขายทอดตลาดต้องถูกเพิกถอนไป ผู้ซื้อทรัพย์ก็ไม่มีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1330
พิพากษายืน