คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7842/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คำพิพากษาของศาลฎีกาที่ให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม ถ้าไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย เงินบำเหน็จ เงินสะสม และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์นั้น เป็นการกำหนดให้จำเลยกระทำการชำระหนี้ทีละอย่างก่อนหลังตามลำดับ โดยให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานก่อนเป็นอันดับแรกหากไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้จึงใช้วิธีชำระเงินเป็นวิธีสุดท้าย ซึ่งเป็นอำนาจของศาลแรงงานที่จะพิจารณาว่าจำเลยสามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้หรือไม่ มิใช่ความชอบธรรมและเป็นอำนาจบริหารจัดการของจำเลยโดยเด็ดขาดที่จะรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือไม่ก็ได้ เมื่อศาลแรงงานกลางยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงในประเด็นนี้จึงเห็นควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31, 56

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งที่ 1/2543 ลงวันที่ 7 มกราคม 2543 ของจำเลย (ให้โจทก์ออกจากงาน) ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม ถ้าไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 203,950 บาท เงินบำเหน็จ 492,395 บาท เงินสะสม 202,373.59 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 509,875 บาท รวมเป็นเงิน 1,408,593.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สำหรับค่าชดเชย และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับเงินอื่นนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลฎีกาพิพากษายืน ศาลแรงงานกลางออกคำบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกา
โจทก์ยืนคำร้องว่า จำเลยจงใจไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาและคำบังคับที่ต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานเป็นอันดับแรก ทั้งที่จำเลยมีตำแหน่งหน้าที่ที่จะรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ไม่น้อยกว่า 4 ตำแหน่ง แต่จำเลยกลับนำเงินค่าชดเชยเงินบำเหน็จ เงินสะสม และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรมมาวางศาลเพื่อชำระให้โจทก์ ขอให้ไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม ชำระค่าจ้างนับแต่วันเลิกจ้างเสมือนหนึ่งโจทก์ไม่มีความผิดตามคำพิพากษาและระเบียบการทำงานของจำเลยให้โจทก์ และคืนเงินที่จำเลยวางไว้ต่อศาลแก่จำเลย
จำเลยยื่นคำแถลงว่า ตำแหน่งผู้ดูการ (โจทก์เคยดำรงตำแหน่งผู้ดูการก่อนถูกจำเลยเลิกจ้าง) จังหวัดนครปฐม จังหวัดฉะเชิงทรา และจังหวัดราชบุรี จำเลยได้แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้ดูการแล้ว จังหวัดชลบุรีก็มีดำรงตำแหน่งผู้ดูการแล้วเช่นกัน ไม่มีตำแหน่งผู้ดูการว่าง และตำแหน่งดังกล่าวเป็นตำแหน่งระดับบริหาร มีความรับผิดชอบในหน้าที่และต้องได้รับความไว้วางใจจากจำเลยอย่างสูงจึงต้องเป็นผู้ซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส มีความเป็นธรรมและเป็นแบบอย่างที่ดีให้ผู้ใต้บังคับบัญชา จึงเป็นความชอบธรรมและเป็นอำนาจบริหารจัดการของจำเลยโดยเด็ดขาดในการพิจารณาลงโทษ หากจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานจะก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการบริหารและปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่น อันจะเป็นปัญหาในการปกครองบังคับบัญชาต่อไปในภายหน้า จำเลยจึงไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้จำเลยได้วางเงินที่ต้องชำระตามคำพิพากษาต่อศาลแล้ว ขอให้โจทก์รับเงินแทนการรับโจทก์กลับเข้าทำงาน
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยและมีคำสั่งตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 4 สิงหาคม 2546 ว่า “จำเลยได้ยื่นคำแถลงโดยยืนยันว่าจำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ รายละเอียดปรากฏตามคำแถลงที่ยื่น
ศาลเห็นว่าความสามารถที่จะรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้หรือไม่ เป็นอำนาจฝ่ายบริหารซึ่งเป็นดุลพินิจของฝ่ายจำเลย
เมื่อจำเลยได้วางเงินชำระหนี้ตามคำพิพากษาครบถ้วน ถือว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว โจทก์ชอบที่จะรับเงินที่จำเลยวางต่อศาลได้”
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยว่า การรับโจทก์กลับเข้าทำงานเป็นอำนาจบริหารซึ่งเป็นดุลพินิจของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า คำพิพากษาของศาลฎีกาที่ให้เพิกถอนคำสั่งที่ 1/2543 ลงวันที่ 7 มกราคม 2543 ของจำเลยให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม ถ้าไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย เงินบำเหน็จ เงินสะสม และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์นั้น เป็นการกำหนดให้จำเลยกระทำการชำระหนี้ทีละอย่างก่อนหลังตามลำดับ โดยให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานก่อนเป็นอันดับแรก หากไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ จึงจะใช้วิธีชำระเงินเป็นวิธีสุดท้าย ซึ่งเป็นอำนาจของศาลแรงงานที่จะพิจารณาว่าจำเลยสามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้หรือไม่ มิใช่เป็นความชอบธรรมและเป็นอำนาจบริหารจัดการของจำเลยโดยเด็ดขาดที่จะรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือไม่ก็ได้ แต่เนื่องจากศาลแรงงานกลางไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงในประเด็นที่ว่าจำเลยสามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามคำพิพากษาได้หรือไม่ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเสียก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31, 56”
พิพากษายกคำสั่งศาลแรงงานกลางตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 4 สิงหาคม 2546 ให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยสามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามคำพิพากษาได้หรือไม่ แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี

Share