คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7864/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยพิพาทกันเกี่ยวกับที่ดินพิพาท มีการเจรจาและทำใบยอมความกันต่อหน้าเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองว่า จำเลยตกลงยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยโจทก์จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง ดังนี้ การที่จำเลยตกลงยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ก็เพื่อระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินระหว่างโจทก์และจำเลย จึงหาใช่เป็นการให้โดยเสน่หาที่จะต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ แต่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายพิมพ์นิ้วมือจำเลย และมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วย 2 คน โจทก์ย่อมฟ้องให้บังคับคดีจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์จำเลยประนีประนอมยอมความกันแต่จำเลยผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 7207 ตำบลบ้านไทร อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ แก่โจทก์ และให้จำเลยทำการจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์จำเลยทำใบยอมความกันไว้ เป็นการยกที่ดินให้โจทก์โดยเสน่หา เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การให้จึงไม่สมบูรณ์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 7207 ตำบลบ้านไทร อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ แก่โจทก์ และให้จำเลยทำการจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่จำเลยตกลงยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามใบยอมความเป็นการให้โดยเสน่หาหรือเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งคดีนี้มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนว่าโจทก์และจำเลยพิพาทกันเกี่ยวกับที่ดินพิพาท มีการเจรจากันที่ที่ทำการปกครองอำเภอประโคนชัย และเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2534 โจทก์กับจำเลยทำใบยอมความกันต่อหน้าเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองว่า จำเลยตกลงยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยจะโอนให้ในวันที่ 28 สิงหาคม 2534 และโจทก์จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง แต่จำเลยไม่ยอมไปดำเนินการโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ ดังนี้ เห็นว่า การที่จำเลยตกลงยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ก็เพื่อระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลย จึงหาใช่เป็นการให้โดยเสน่หาที่จะต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ดังที่จำเลยฎีกาไม่ แต่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายพิมพ์นิ้วมือจำเลย และมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วย 2 คน โจทก์ย่อมฟ้องร้องให้บังคับคดีจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาคดีมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share