คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7624/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ที่ตั้งที่ทำการจำเลยของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นหลักแหล่งที่ทำการงานตามปกติของจำเลยที่ 2 ด้วย แม้จำเลยที่ 2 จะมีที่อยู่แยกต่างหากจากภูมิลำเนาจำเลยที่ 1 แต่ในการติดต่อกับโจทก์จำเลยที่ 2 ใช้ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 เป็นสถานที่ติดต่อทุกครั้ง กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้เลือกเอาภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 เป็นภูมิลำเนาสำหรับการติดต่อกับโจทก์โดยเฉพาะ ถือได้ว่าที่ทำการของจำเลยที่ 1 เป็นภูมิลำเนาเฉพาะการของจำเลยที่ 2 ใช้สำหรับการติดต่อกับโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 42 การที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้และแจ้งบังคับจำนองไปยังที่ตั้งที่ทำการของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 2 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ระหว่างสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 2 ขอเลื่อนคดีโดยอ้างเหตุต่างๆ หลายนัดและศาลชั้นต้นได้เคยตักเตือนและกำชับจำเลยที่ 2 ว่ามีพฤติการณ์การดำเนินคดีในลักษณะประวิงคดีมาครั้งหนึ่งแล้ว และเมื่อกำหนดนัดสืบพยานจำเลย จำเลยที่ 2 ก็ยังขอเลื่อนคดีอีกถึง 2 นัดติดต่อกัน และในนัดสืบพยานจำเลยต่อมาจำเลยที่ 2 คงอ้างตนเองเข้าเบิกความเป็นพยานเพียงปากเดียวแล้วแถลงว่าเตรียมพยานมาเท่านี้และขอเลื่อนไปสืบพยานที่เหลืออีก 3-7 ปาก ในนัดหน้า ศาลชั้นต้นอนุญาตโดยกำชับให้จำเลยที่ 2 นำพยานมาสืบให้แล้วเสร็จในวันนัด ครั้นถึงวันนัดจำเลยที่ 2 นำผู้ตรวจสอบบัญชีของจำเลยที่ 2 มาศาล แต่กลับแถลงขอเลื่อนคดีโดยอ้างว่าพยานลืมเอกสารซึ่งต้องใช้ประกอบการเบิกความไว้ในรถแท็กซี่ และไม่นำพยานที่เหลืออยู่มาสืบในวันนัดนั้นตามที่ศาลชั้นต้นได้กำชับไว้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 มิได้นำพาที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของศาลชั้นต้นส่อเจตนาของจำเลยที่ 2 ที่จะประวิงคดี คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานจำเลยที่ 2 นั้นชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีค้ำประกันและจำนองจำนวน 4,086,537.03 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 3,631,637.25 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 และทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 3,631,637.25 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2539 ซึ่งเป็นวันฟ้องต้องไม่เกิน 454,899.78 บาท ตามที่โจทก์ขอ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระ ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 7343 และ 7344 ตำบลคลองราชาเทวะ (ราชาเทวะ) อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสุมทรปราการ และที่ดินโฉนดที่เลขที่ 394 และ 17498 ตำบลบ้านบาตร (สามยอด) อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย (สามเพ็ง) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ในประการแรกว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานจำเลยที่ 2 ในวันที่ 3 มิถุนายน 2541 นั้น ชอบหรือไม่ เห็นว่า ระหว่างนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 2 ขอเลื่อนคดีโดยอ้างเหตุต่างๆ หลายนัด และศาลชั้นต้นได้เคยตักเตือนและกำชับจำเลยที่ 2 ว่ามีพฤติการณ์การดำเนินคดีในลักษณะประวิงคดีมาครั้งหนึ่งแล้ว ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2540 แต่ภายหลังที่สืบพยานโจทก์เสร็จ และถึงกำหนดนัดสืบพยานจำเลย จำเลยที่ 2 ก็ยังขอเลื่อนคดีโดยอ้างเหตุว่าตัวจำเลยที่ 2 ป่วยอีกถึง 2 นัดติดต่อกัน ครั้นถึงวันนัดสืบพยานจำเลยในนัดที่สามวันที่ 20 เมษายน 2541 จำเลยที่ 2 คงอ้างตนเองเข้าเบิกความเป็นพยานเพียงปากเดียวแล้วแถลงว่าเตรียมพยานมาศาลเพียงเท่านี้และขอเลื่อนไปสืบพยานที่เหลืออีกประมาณ 3 ถึง 4 ปาก ในนัดหน้า ซึ่งศาลชั้นต้นก็อนุญาตโดยได้กำชับให้จำเลยที่ 2 นำพยานมาสืบให้แล้วเสร็จในวันนัด เมื่อถึงวันนัดตามที่เลื่อนมาคือวันที่ 3 มิถุนายน 2541 จำเลยที่ 2 คงนำพยานมาศาลเพียงปากเดียวคือ นางสาวนารีรัตน์ ศรีแจ้ง ทั้งที่จำเลยที่ 2 จะต้องนำพยานที่เหลือมาศาลให้ครบตามที่แถลงต่อศาลในนัดก่อนนั้น แต่จำเลยที่ 2 กลับแถลงขอเลื่อนคดีอีกโดยอ้างว่านางสาวนารีรัตน์ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีของจำเลยที่ 2 ลืมเอกสารเกี่ยวกับการตรวจสอบบัญชีซึ่งจะต้องใช้ประกอบในการเบิกความไว้ในรถแท็กซี่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 มิได้นำพาที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของศาลชั้นต้นส่อเจตนาของจำเลยที่ 2 ที่จะประวิงคดี เพราะถ้าจำเลยที่ 2 นำพยานที่เหลือมาศาลทั้งหมด หากนางสาวนารีรัตน์ไม่อาจเบิกความได้เพราะเหตุดังจำเลยที่ 2 อ้าง จำเลยที่ 2 ก็ยังมีพยานบุคคลอื่นมาศาลเพื่อที่จะสืบในวันนั้น ดังที่ศาลชั้นต้นกำชับไว้ได้แต่จำเลยที่ 2 ก็หาได้กระทำไม่ เอกสารที่นางสาวนารีรัตน์จะใช้ประกอบในการเบิกความแต่หลงลืมไว้ในรถแท็กซี่จะมีจำนวนมากน้อยเพียงใดก็ไม่ปรากฏ ทั้งประเด็นข้อนำสืบต่อสู้ตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ก็มีไม่มาก ดังนั้น ข้อที่จำเลยที่ 2 โต้เถียงว่าเป็นไปไม่ได้ที่จำเลยที่ 2 จะนำพยานมาเบิกความพร้อมกันในวันเดียวกันถึง 3 ถึง 4 ปากนั้น จึงเป็นข้อถึยงที่เลื่อนลอยไม่มีเหตุผลให้รับฟัง ที่ศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานจำเลยที่ 2 นั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ในประการสุดท้ายมีว่า โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนายอมรพันธ์ ร่วมนิคม ทนายความของโจทก์เบิกความเป็นพยานยืนยันว่า นายชนินทร์ เชื้อศรีตระกูล ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้และแจ้งบังคับจำนองโดยส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังที่ตั้งที่ทำการอันเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือบอกกล่าวนั้นแล้วตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 และทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนที่ตั้งที่ทำการของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นหลักแหล่งที่ทำการงานตามปกติของจำเลยที่ 2 ด้วย แม้จำเลยที่ 2 จะมีที่อยู่แยกต่างหากจากภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 แต่คดีก็ยังได้ความตามคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ตอบทนายโจทก์ถามค้านว่าในการติดต่อกับโจทก์ จำเลยที่ 2 ใช้ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 เป็นสถานที่ติดต่อทุกครั้ง กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้เลือกเอาภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 เป็นภูมิลำเนาสำหรับการติดต่อกับโจทก์โดยเฉพาะ ถือได้ว่าที่ทำการของจำเลยที่ 1 เป็นภูมิลำเนาเฉพาะการของจำเลยที่ 2 ที่ใช้สำหรับการติดต่อกับโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 42 จึงฟังได้ว่าโจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 2 โดยชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน…”
พิพากษายืน

Share