คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 193/2483

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เสมียนแผนกสรรพากรอำเภอรับมอบหน้าที่ราชการเป็นประจำใหรับรักษาเงินค่าภาษีอากรจากผู้นำมาชำระเพื่อนำส่งสมุหบัญชีค่อไปนั้น ชื่อว่าเป็นเจ้าพนักงานกระทำการโดยมีหน้าที่รับเงินนั้น ๆ ตามมาตรา 131 คดีที่ฟ้องขอให้ลงโทษฐานยักยอก แม้ทางพิจารณาปรากฏว่าจำเลยยักยอกไปน้อยกว่าจำนวนในฟ้องก็ลงโทษได้ จำเลยยักยอกเงินค่าภาษีอากรซึ่งในหน้าที่ราชการของจำเลยรับไว้จากผู้นำมาชำระ แม้จำเลยจะหาเงินนั้นมาใช้ให้แล้วก็ตามก็ไม่ทำให้คดีระงับไปเพราะเป็นความอาญาแผ่นดิน บุคคลที่อยู่ในฐานะจะถูกฟ้องเป็นจำเลยนั้น โจทก์อ้างเป็นพะยานและศาลรับฟังลงโทษ จำเลยได้ไม่ขัดกับประมวล วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 232

ย่อยาว

ได้ความว่า จำเลยเป็นเสมียนแผนกสรรพากรอำเภอได้รับมอบหน้าที่ราชการเป็นประจำให้รับรักษาเงินค่าภาษีอากำจากผู้นำมาชำระ เพื่อส่งสมุห์บัญชีอำเภอต่อไป โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ยักยอกเงินค่าภาษีอากรที่มีผู้นำมาชำระแก่จำเลยหลายรายเป็นเงิน ๗๘๙ บาท ๑๔ สตางค์ แต่ทางพิจารณาปรากฏว่าจำเลยยักยอกไป ๗๐๕ บาท ๔๕ สตางค์ จำเลยกับขนประสิทธิ์ ฯ สมุห์บัญชีอำเภอได้จัดหาเงินมาใช้ให้รัฐบาลครบถ้วยแล้ว แต่สรรพากรจังหวัดผู้ควบคุมรักษาเงินผลปรโยชน์ของรัฐบาลประเภทนี้ได้ร้องทุกข์ให้เจ้าพนักงานฟ้องร้องจำเลย โจทก์จึงได้ฟ้องขอให้ลงโทษ จำเลย
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ตัดสินลงโทษจำเลยตามมาตรา ๑๓๑ ๓๑๙ (๓) จำคุก ๑ ปี ๖ เดือน
จำเลยฎีกาว่า
(๑) จำเลยมิใช่เจ้าพนักงานตามความหมายในมาตรา ๑๓๑
(๒) โจทก์ฟ้องว่าจำเลยยักยอกเงิน ๗๘๙ บาท ๑๔ สตางค์ แต่ทางพิจารณาปรากฏว่าจำนวนเงินที่แท้จริงเพียง ๗๐๕ บาท ๔๕ สตางค์ ศาลควรยกฟ้องตาม ประมวล วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒
(๓) กรณีนี้เป็นความผิดต่อส่วนตัวสรรพากรจังหวัดยอมรับเงินนั้นคืนไปแล้วจะเอาคดีขึ้นว่ากล่าวหาได้ไม่
(๔) โจทก์นำขุนประสิทธิ์ ฯ กับนายมาเข้าเป็นพะยาน และศาลก็อาศัยพะยาน ๒ ปากนี้ลงโทษ จำเลยเป็นการไม่ชอบด้วยมาตรา ๒๓๒ แห่ง ประมวล วิธีพิจารณาความอาญา โดยบุคคลทั้ง ๒ อยู่ในฐานะที่จะถูกฟ้องเป็นจำเลย
ศาลฎีกาเห็นว่า
๑.จำเลยได้รับมอบหน้าที่ราชการเป็นประจำให้รับรักษาเงินค่าภาษีอากรจากผู้นำมาชำระเพื่อนำส่งสมุห์บัญชี จำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานกระทำการโดยมีหน้าที่รับเงินนั้น ๆ ตามมาตรา ๑๓๑
๒.โจทก์หาว่าจำเลยทุจจริตยักยอกเงินค่าภาษีอากร เมื่อพิจารณาได้ความว่าจำเลยได้ทุจจริตยักยอกเงินประเภทนั้น ๆ จริงแล้วจะเป็นจำนวนน้อยกว่าที่กล่าวหาก็ไม่สำคัญอันใดจำเลยจะขอให้ยกฟ้องตาม ประมวล วิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๙๒ วรรค ๒ หาได้ไม่
๓. การกระทำของจำเลย เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน หาใช่ความผิดต่อส่วนตัวไม่เพราะเงินที่จำเลยยักยอกเป็นเงินค่าภาษีอากรซึ่งในหน้าที่ราชการของจำเลยรับไว้จากผู้นำมาชำระ หาใช่เงินส่วนตัวของสรรพกรจังหวัดไม่
๔. แม้จะจริงอย่างค้านก็ไม่อยู่ในบังคับมาตรา ๒๓๒ เพราะมาตรา ๒๓๒ ห้ามมิให้โจทก์ อ้างจำเลยเป็นพะยานเท่านั้น
จึง พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

Share