แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ที่ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 จะต้องยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งดังกล่าวภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันทราบคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 แต่จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งเมื่อพ้นกำหนด 1 เดือนไปแล้ว ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่าจำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์คำสั่วงไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยเกิน 1 เดือน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2 ย่อมมีผลเท่ากับไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลย ยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้น คำสั่งศาลอุทธรณ์นี้เป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 236 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิฎีกา
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาและแก้ไขคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 30,155,791.23 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อปี ของต้นเงิน 26,200,566.15 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 12 มิถุนายน 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์เป็นเงิน 2,024,888.77 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อปี ของต้นเงิน 2,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 130488, 157971, 41143, 157970, 144921 ตำบลคลองตัน อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์จนครบ หากไม่พอให้บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามชำระหนี้ตามส่วนความรับผิดของจำเลยแต่ละคนแก่โจทก์จนครบ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 30,000 บาท ในส่วนค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีจำเลยที่ 2 และในส่วนของค่าทนายความให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิด 10,000 บาท
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์รวม 4 ครั้ง ครั้งสุดท้ายขอขยายถึงภายในวันที่ 24 พฤษภาคม 2547 แต่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 6 พฤษภาคม 2547 ต่อมาวันที่ 12 พฤษภาคม 2547 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 5 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2547 ว่า จำเลยที่ 2 ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เมื่อล่วงพ้นระยะเวลาที่ตนมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ได้ตามที่ศาลกำหนด และตามคำร้องไม่ปรากฏว่ามีเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ จึงไม่อาจขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 2 ได้ ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
วันที่ 24 มิถุนายน 2547 จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งเกิน 1 เดือน ที่จำเลยที่ 2 จะอุทธรณ์คำสั่งได้ จึงไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2 คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดแก่จำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2 เกินกว่า 1 เดือน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ที่ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ไม่เห็นด้วย ชอบที่จำเลยที่ 2 จะต้องยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งดังกล่าวภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันทราบคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 แต่จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งเมื่อพ้นกำหนด 1 เดือน ไปแล้ว ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2 ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่าจำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2 เกินกว่า 1 เดือน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 ให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2 ย่อมมีผลเท่ากับไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2 ยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้น คำสั่งศาลอุทธรณ์นี้เป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 236 วรรคหนึ่ง แล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิฎีกาต่อมา ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 2 คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่จำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ.