คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 653/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์กล่าวในฟ้องว่า โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นบุตร ของ ส.ซึ่งมีสิทธิได้รับทรัพย์คนละส่วนตามข้อกำหนดในพินัยกรรมของส.กับพินัยกรรมมีข้อกำหนดให้ทรัพย์อีกส่วนหนึ่งตกได้แก่ผู้ทำบุญ อุทิศให้แก่ ส.เมื่อส.ถึงแก่กรรมอันเป็นเจตนาของส. จำเลยที่ 3ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมได้ยื่นเรื่องขอจดทะเบียนผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมต่อนายอำเภอ คดีนี้ เมื่อโจทก์เห็นว่าพินัยกรรมไม่ถูกต้อง เป็นโมฆะทำขึ้นโดย มีการบังคับขู่เข็ญหรือฉ้อฉลไม่เป็นไปตามเจตนาเดิมของ ส. โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะทายาทของ ส. ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมดังกล่าวได้ตามป.พ.พ. มาตรา 1708 และมาตรา 1709.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นบุตรนายสิงห์นางทองอ่อน สงคำจันทร์ ก่อนนายสิงห์ถึงแก่กรรมนายสิงห์มีความประสงค์จะทำพินัยกรรมเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2530 นายสิงห์ได้พาโจทก์จำเลยทั้งสามและบุคคลอื่นอีกหลายคนไปดูที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 174 ตำบลดงใหญ่เพื่อชี้แนวเขตและแบ่งแยกออกเป็นสี่ส่วนเท่า ๆ กัน โดยโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้คนละหนึ่งส่วน อีกส่วนหนึ่งจะตกได้แก่ผู้ที่ได้ทำบุญอุทิศให้แก่นายสิงห์เมื่อนายสิงห์ถึงแก่กรรมแล้วในวันเดียวกัน จำเลยทั้งสามได้พานายสิงห์ไปทำพินัยกรรมที่ที่ว่าการอำเภอวาปีปทุมตามเจตนาดังกล่าว ต่อมาวันที่ 9 สิงหาคม 2530 นายสิงห์ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคชราจำเลยที่ 3 ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมได้ยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมต่อนายอำเภอวาปีปทุม โจทก์คัดค้านว่าพินัยกรรมไม่ถูกต้องเป็นโมฆะ เพราะพินัยกรรมดังกล่าวทำขึ้นโดยมีการขู่เข็ญบังคับหรือโดยกลฉ้อฉลไม่เป็นไปตามเจตนาเดิมของนายสิงห์ขอให้พิพากษาว่า พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2530 ของนายสิงห์เป็นพินัยกรรมปลอมเป็นโมฆะและให้เพิกถอนพินัยกรรม
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ว เห็นว่า จำเลยมิได้โต้แย้งสิทธิโจทก์หรือโจทก์ต้องใช้สิทธิทางศาลเกี่ยวกับพินัยกรรมแต่อย่างใดโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาใหม่ต่อไป
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “กรณีเป็นเรื่องโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะทายาทของนายสิงห์ สงคำจันทร์ เจ้ามรดก ใช้สิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1708 และ มาตรา 1709 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง”
พิพากษายืน.

Share