คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3170/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้คัดค้านทั้งห้าได้ขายที่พิพาทให้แก่ผู้ร้องโดยผู้ร้องได้ชำระราคาบางส่วนแล้ว และมีข้อตกลงกันว่า ผู้คัดค้านทั้งห้าจะต้องไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทให้แก่ผู้ร้อง และผู้ร้องจะชำระเงินส่วนที่เหลือในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ จึงเข้าลักษณะเป็นสัญญาจะซื้อขาย การที่ผู้ร้องครอบครองที่พิพาทจึงเป็นการเข้าครอบครองโดยอาศัยสิทธิของผู้ขายตามสัญญาจะซื้อขาย เป็นการยึดถือแทนผู้ขาย มิใช่ยึดถือในฐานะเป็นเจ้าของ แม้ผู้ร้องครอบครองที่พิพาทมาเกินกว่า 10 ปี ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า เมื่อ พ.ศ. 2516 ผู้ร้องได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 2370 ตำบลม่วงไข่ อำเภอพังโคน (พรรณานิคม)จังหวัดสกลนคร จากเจ้าของเดิมในราคา 3,000 บาท ไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ แต่ผู้ขายได้ส่งมอบที่ดินให้แก่ผู้ร้องครอบครองพร้อมทั้งมอบโฉนดที่ดินให้ด้วย ผู้ร้องได้ครอบครองโดยใช้ทำนาตลอดมาโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จนได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1382 ขอให้สั่งแสดงว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวเป็นของผู้ร้องให้เจ้าพนักงานที่ดินแก้ชื่อทางทะเบียนเป็นชื่อผู้ร้อง
ผู้คัดค้านทั้งห้าซึ่งมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามโฉนดยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านทั้งห้าไม่ได้ขายที่พิพาทให้แก่ผู้ร้องแต่เป็นเรื่องที่ผู้คัดค้านที่ 3 กู้ยืมเงินผู้ร้อง 3,000 บาทเมื่อ พ.ศ. 2516 แล้วมอบที่พิพาทให้แก่ผู้ร้องทำกินต่างดอกเบี้ยโดยผู้คัดค้านอื่นไม่รู้เห็น เมื่อผู้คัดค้านอื่นทราบได้นำเงิน3,000 บาท ไปชำระคืนแก่ผู้ร้องและขอที่พิพาทคืน ผู้ร้องอ้างว่าได้ปรับปรุงที่พิพาทไปมากขอทำประโยชน์อีกสักระยะหนึ่ง แล้วกลับมายื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ ขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกคำร้องขอ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับว่า กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2370 ตำบลม่วงไข่ อำเภอพังโคน (พรรณานิคม) จังหวัดสกลนครเป็นของผู้ร้อง คำขออื่นของผู้ร้องให้ยก
ผู้คัดค้านทั้งห้าฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งห้าว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้วหรือไม่ ผู้ร้องเบิกความว่า เมื่อ พ.ศ. 2516 ผู้คัดค้านทั้งห้าได้ขายที่พิพาทให้แก่ผู้ร้องในราคา 3,000 บาท โดยผู้ร้องชำระเงินให้ครั้งแรก 2,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 1,000 บาท จะชำระให้ตอนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาท ในวันนั้นผู้คัดค้านทั้งห้าได้มอบโฉนดที่ดินสำหรับที่พิพาทให้แก่ผู้ร้องไว้ด้วย หลังจากตกลงซื้อที่ดินกันแล้วผู้ร้องได้ไปติดต่อขอโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสกลนคร แต่โอนไม่ได้เนื่องจากในวันนั้นผู้ขายมาไม่ครบ ต่อมาวันที่ 9 เมษายน 2516 ผู้ร้องนำหนังสือมอบอำนาจของผู้คัดค้านทั้งห้าที่มอบอำนาจให้ผู้ร้องไปจดทะเบียนขายที่พิพาทได้ไปติดต่อเพื่อขอโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาท แต่ปรากฏว่าเตรียมเงินค่าธรรมเนียมไปไม่พอจึงไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทในวันนั้นผู้ร้องได้เข้าทำประโยชน์ในที่พิพาทตั้งแต่ พ.ศ. 2516จนถึงปัจจุบันโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปี ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงเป็นดังที่ผู้ร้องเบิกความก็ตาม การซื้อขายที่พิพาทตามคำเบิกความของผู้ร้องมีข้อตกลงกันว่าผู้คัดค้านทั้งห้าจะต้องไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทให้แก่ผู้ร้อง และผู้ร้องจะชำระเงินส่วนที่เหลืออีก 1,000 บาทในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ จึงเข้าลักษณะเป็นสัญญาจะซื้อขายฉะนั้นการที่ผู้ร้องในฐานะผู้ซื้อครอบครองที่พิพาทจึงเป็นการเข้าครอบครองโดยอาศัยสิทธิของผู้ขายตามสัญญาจะซื้อขาย เป็นการยึดถือแทนผู้ขาย มิใช่ยึดถือในฐานะเป็นเจ้าของ แม้ผู้ร้องครอบครองที่พิพาทมาเกินกว่า 10 ปี ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ดังนั้นจึงไม่ต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของผู้คัดค้านทั้งห้า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้คัดค้านทั้งห้าฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง

Share