คำวินิจฉัยที่ 87/2561

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์เป็นเอกชน ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชน เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดมหาสารคาม จำเลยที่ ๒ และอธิบดีกรมที่ดิน จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนด แต่ถูกจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้รับจ้างรังวัดเอกชน ปลอมลายมือชื่อของโจทก์ ในบันทึกถ้อยคำ (แบ่งหักเป็นทางสาธารณประโยชน์) บันทึกถ้อยคำ (แก้คำขอ) และแผนที่สังเขปว่าโจทก์แบ่งหักที่ดินให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ หลังจากนั้น จำเลยที่ ๒ ได้ทำนิติกรรมแบ่งหักที่ดินของโจทก์ให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ โดยจำเลยที่ ๓ ได้ยินยอมให้จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ กระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย พร้อมดอกเบี้ย ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันเพิกถอนนิติกรรมแบ่งหักที่ดินของโจทก์ให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันออกโฉนดฉบับใหม่ให้แก่โจทก์มีเนื้อที่เท่าเดิม หากจำเลยทั้งสามไม่เพิกถอนและออกโฉนดฉบับใหม่ให้แก่โจทก์ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๒ ทำนิติกรรมแบ่งหักที่ดินของโจทก์เป็นทางสาธารณะโดยอยู่ในความรู้เห็นและยินยอมของโจทก์ และผูกพันโจทก์ เมื่อโจทก์อุทิศที่ดินให้เป็นทางสาธารณะ ที่ดินจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ร่วมกันโดยผลของกฎหมาย ตามมาตรา ๑๓๐๔ (๒) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเลยที่ ๓ จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนรายการจดทะเบียนแบ่งหักที่ดินพิพาท และออกโฉนดที่ดินฉบับใหม่ให้แก่โจทก์ และจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ประสงค์ให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมจดทะเบียนแบ่งหักที่ดินของโจทก์ให้เป็นทางสาธารณะเพราะเหตุที่จำเลยที่ ๑ ปลอมลายมือชื่อโจทก์ อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยโจทก์มิได้โต้แย้งเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่อย่างใด ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นกรณีที่โจทก์มุ่งหมายให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมและขอให้ศาลมีคำพิพากษารับรองสิทธิในที่ดินของโจทก์ กรณีจึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการเพิกถอนนิติกรรมทางแพ่งและการคุ้มครองสิทธิ ในทรัพย์สินของเอกชน ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share