แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 อยู่ร่วมเรือนเดียวกันและมีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 อย่างเปิดเผย โดยเป็นที่ประจักษ์ทั่วไปว่าบุคคลทั้งสองมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวต่อกันจำเลยที่ 2 ก็ยอมรับว่าโจทก์เคยไปพบบิดาของจำเลยที่ 2 ขอให้ห้ามจำเลยที่ 1 ไปบ้านจำเลยที่ 2 ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้แสดงโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 กับโจทก์เป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อจำเลยที่ 2 แสดงตนแก่บุคคลทั่วไปว่ามีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1ในทำนองชู้สาวจึงเป็นเรื่องที่ผิดทำนองคลองธรรมอยู่ในตัวและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ผู้ซึ่งเป็นภรรยาโดยตรง ซึ่งโจทก์ก็แสดงให้เห็นว่ามีฐานะทางสังคมที่ดี เมื่อมีพฤติการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นผู้บังคับบัญชาของโจทก์มีทัศนะต่อโจทก์ในทางไม่ดี ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความราบรื่นในชีวิตสมรสของโจทก์ และความผาสุกในครอบครัว ซึ่งถูกกระทบกระเทือนอยู่แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523วรรคสอง ค่าทดแทนเป็นจำนวนเท่าใดนั้น ศาลมีอำนาจกำหนดค่าทดแทนตามควรแห่งพฤติการณ์และสถานะของคู่สมรสประกอบกัน โจทก์ได้ทราบถึงความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสองกลางปี 2525แต่คำฟ้องและชั้นนำสืบพยานหลักฐานของโจทก์ยืนยันความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสองเกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดมาถึงปี 2528 มิได้หยุดการกระทำและสิ้นไป เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเรียกค่าทดแทนภายในปี 2528คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1529
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 โจทก์สำเร็จการศึกษาปริญญาโทสาขาการบริหารพยาบาลปัจจุบันรับราชการตำแหน่งหัวหน้ากองการศึกษา วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบกจำเลยที่ 1 รับราชการอยู่ที่กรมการแพทย์ทหารบก แต่ลาออกเมื่อปี 2522 แล้วไปทำงานบริษัทโอซูก้า จำกัด จำเลยที่ 2 ทำงานที่บริษัทเดียวกันกับจำเลยที่ 1 เมื่อประมาณกลางปี 2525 มีคนบอกโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ไปติดพันจำเลยที่ 2 แต่โจทก์ยังไม่แน่ใจจนกระทั่งเมื่อประมาณต้นปี 2528 โจทก์ติดตามไปพบจำเลยที่ 1อยู่ที่บ้านของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองแต่งกายลักษณะอยู่กับบ้านบ่งบอกถึงการเป็นสามีภรรยากัน จำเลยที่ 1 ขู่เข็ญให้โจทก์ไปจดทะเบียนหย่า แต่โจทก์ไม่ยอม จำเลยที่ 1 จึงหาเหตุฟ้องหย่ากับโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการผิดหน้าที่ต่อโจทก์และการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการแสดงออกถึงการมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงและสถานภาพทางสังคม ขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าทดแทนเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท และให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าทดแทนเป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองรู้จักกันในฐานะเป็นเพื่อนร่วมงานไม่เคยประพฤติหรือแสดงว่ามีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาว ค่าทดแทนที่โจทก์เรียกจากจำเลยทั้งสองสูงเกินสมควรค่าเสียหายหรือค่าทดแทนหากมีก็ไม่เกิน 5,000 บาท คดีของโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าทดแทนเป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลเท่าที่โจทก์ชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,500 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ โดยโจทก์ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถาบางส่วน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 2 แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 ในทำนองชู้สาวหรือไม่นั้นโจทก์นำสืบพยานถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2ว่าเป็นไปในทำนองชู้สาว โดยเฉพาะโจทก์เบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เคยกล่าวกับบุคคลอื่นหลายคนว่าโจทก์ไม่ใช่ภรรยาของจำเลยที่ 1 ภรรยาที่แท้จริงของจำเลยที่ 1 คือ จำเลยที่ 2 โจทก์เคยติดตามดูพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงบ้านพักอาศัยของจำเลยที่ 2 พบว่าจำเลยที่ 1 อยู่ด้วยกันกับจำเลยที่ 2 ในลักษณะที่มีความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาดังที่ นางระพีพรรณ ทับเที่ยง พยานโจทก์เบิกความว่าพบจำเลยที่ 1 นุ่งกางเกงขาสั้นชุดลำลองอยู่บ้าน และจำเลยที่ 2 นุ่งกระโจมอกเตรียมจะอาบน้ำ ซึ่งโจทก์ได้ถ่ายภาพจำเลยที่ 1 ไว้ตามภาพถ่ายหมาย จ.7 ในภาพถ่ายดังกล่าว จำเลยที่ 1 อยู่ในชุดลำลองโดยแต่งกายตามสบาย ในลักษณะพักผ่อนอยู่กับบ้าน แสดงว่าจำเลยที่ 1 พักอาศัยอยู่ร่วมบ้านเดียวกับจำเลยที่ 2 ในบางโอกาสโดยมีความสนิทสนมที่ใกล้ชิดกันพิเศษ เกินกว่าความสัมพันธ์ฐานเพื่อนร่วมงาน ที่จำเลยทั้งสองปฏิเสธว่าไม่มีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวระหว่างกันนั้น ยังรับฟังลบล้างความเชื่อถือของพยานโจทก์ไม่ได้ โดยเฉพาะสำเนาคำเบิกความของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.5จำเลยที่ 1 ได้เบิกความในคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องหย่าโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 5923/2528 ของศาลแพ่ง โดยเบิกความว่าจำเลยที่ 1 ได้เสียกับจำเลยที่ 2 แล้วแต่ยังไม่ได้ยกย่องจำเลยที่ 2เป็นภรรยา เป็นพยานหลักฐานซึ่งชี้ว่า จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2มีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวที่ชัดเจน ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 กล่าวไปเช่นนั้น ก็เพื่อประชดให้โจทก์หย่ากับจำเลยที่ 1เพราะไม่ประสงค์จะอยู่กินเป็นสามีภรรยากับโจทก์ต่อไป ก็ไม่เป็นข้อแก้ตัวที่มีเหตุผลเพราะเป็นการเบิกความในการพิจารณาของศาลที่พยานซึ่งสาบานตนแล้ว จะต้องเบิกความตามความเป็นจริงและการเบิกความดังกล่าวก็ไม่มีกรณีที่จะต้องมากล่าวประชดต่อกันอีกเนื่องจากล่วงเลยมาถึงขั้นดำเนินคดีฟ้องให้หย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยาแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 มีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกันจริง คงมีข้อพิจารณาต่อไปว่าจำเลยที่ 2 แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 ในทำนองชู้สาวต่อบุคคลภายนอกหรือไม่ในปัญหานี้แม้จะได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายแสดงออกถึงความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม แต่การแสดงตนที่เป็นส่วนของจำเลยที่ 2 แม้โจทก์จะมิได้เบิกความถึงในข้อนี้โดยตรง แต่ก็ปรากฏข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ที่กล่าวถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2โดยนางพันธุ์ทิพย์ วัฒนศิริ ซึ่งอยู่ในละแวกนั้นเบิกความว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไปไหนมาไหนด้วยกันเด็กชายพสุ ตันติลีปิกร บุตรของโจทก์และจำเลยที่ 1 เบิกความว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 นอนร่วมเตียงเดียวกันและจำเลยที่ 2เคยไปบ้านของมารดาจำเลยที่ 1 พร้อมกับจำเลยที่ 1 ในวันเทศกาลสำคัญ เช่น วันปีใหม่ และวันสงกรานต์ เมื่อพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2ยินยอมให้จำเลยที่ 1 อยู่ร่วมเรือนเดียวกัน และมีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 อย่างเปิดเผยโดยเป็นที่ประจักษ์ทั่วไปว่า บุคคลทั้งสองมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวต่อกันดังที่จำเลยที่ 2 เองก็รับว่า โจทก์เคยไปพบบิดาของจำเลยที่ 2 ขอให้ห้ามจำเลยที่ 1ไปบ้านของจำเลยที่ 2 คดีจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับจำเลยที่ 1
ส่วนจำเลยค่าทดแทนที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใดหรือไม่นั้น จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่เสียหาย และศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ได้รับค่าทดแทนสูงเกินสมควร พิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยที่ 1 กับโจทก์เป็นสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อจำเลยที่ 2 แสดงตนแก่บุคคลทั่วไปว่า ตนมีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 ในทำนองชู้สาว จึงเป็นเรื่องที่ผิดทำนองคลองธรรมอยู่ในตัว และเกิดความเสียหายแก่โจทก์ผู้เป็นภรรยาจำเลยที่ 1 โดยตรงอยู่แล้ว ทั้งในข้อนี้โจทก์นำสืบให้เห็นว่า โจทก์มีสถานะทางสังคมที่ดี เมื่อมีพฤติการณ์นี้เกิดขึ้น ผู้บังคับบัญชาของโจทก์มีทัศนะต่อโจทก์ในทางไม่ดี ทั้งนี้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงความราบรื่นในชีวิตสมรสของโจทก์ และความผาสุกในครอบครัว ซึ่งต้องถูกกระทบกระเทือนอย่างมากอยู่แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสองสำหรับจำนวนค่าทดแทนเป็นจำนวนเท่าใดนั้น เห็นว่า ศาลมีอำนาจกำหนดค่าทดแทนตามควรแห่งพฤติการณ์และสถานะของคู่สมรสประกอบกันที่ศาลล่างทั้งสองได้กำหนดค่าทดแทนเป็นจำนวน 50,000 บาท เป็นจำนวนค่าทดแทนที่สมควรแก่รูปเรื่องแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์เป็นอย่างอื่น
จำเลยที่ 2 ฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความในปัญหานี้ แม้จะปรากฏตามคำฟ้องว่า โจทก์ได้ทราบถึงความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวของจำเลยทั้งสองตั้งแต่กลางปี 2525 ก็ตาม แต่คำฟ้องนั้นเองก็อ้างว่าความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสองเกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดมาจนถึงปี 2528 ในชั้นนำสืบ พยานหลักฐานของโจทก์ก็ยืนยันถึงความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสองในทำนองชู้สาวยังเกิดขึ้นอยู่ต่อมามิได้หยุดการกระทำและสิ้นไป ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเรียกค่าทดแทนภายในปี 2528 คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529
พิพากษายืน