แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและพาอาวุธปืนไปตามทางสาธารณะ มีการกระทำที่แยกจากกันเป็นแต่ละฐานความผิดได้โดยชัดเจน ไม่เกี่ยวเนื่องกัน และเจตนาในการกระทำความผิดก็เป็นคนละอย่างแตกต่างจากกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนลูกซองสั้น ขนาด 20 จำนวน 1กระบอก ใช้ยิงได้ ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่ไม่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้ และมีกระสุนปืน ขนาด 20 จำนวน 2 นัดอันเป็นเครื่องกระสุนปืนตามกฎหมายไว้ในครอบครอง โดยจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่และจำเลยได้พาอาวุธปืนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองดังกล่าวติดตัวไปตามถนนเร่งรัดพัฒนาชนบท(รพช.) หมู่บ้านหนองเครือ อันเป็นทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควรและโดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนดังกล่าวติดตัว และมิใช่กรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ทั้งไม่มีเหตุได้รับยกเว้นโทษตามกฎหมายขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 91, 371 ที่แก้ไขแล้ว และสั่งริบของกลาง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคแรก, 72, 72 ทวิ วรรคสองประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ข้อหามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองลงโทษจำคุก 1 ปี ข้อหาพาอาวุธปืนที่มีไว้ในครอบครองติดตัวไปตามถนนอันเป็นทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 6 เดือน รวมลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือนลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 9 เดือน ริบของกลาง จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาขึ้นมาในข้อที่ว่า ข้อหามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และข้อหาพาอาวุธปืนไปตามถนนอันเป็นทางสาธารณะเป็นความผิดกรรมเดียวกันหรือไม่ เห็นว่า ความผิดทั้งสองข้อหา มีการกระทำที่แยกจากกันเป็นแต่ละฐานความผิดได้โดยชัดเจนไม่เกี่ยวเนื่องกันและเจตนาในการกระทำความผิดก็เป็นคนละอย่างแตกต่างจากกัน ความผิดทั้งสองข้อหา จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยสองกรรมชอบแล้ว”
พิพากษายืน