คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 151/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 มีความเป็นอยู่อย่างสุขสบายไม่เดือดร้อน ก็ยังมีสิทธิได้รับอุปการะจากภริยาและบุตรโจทก์ที่ 1 ตามควรแก่พฤติการณ์จึงมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยอันเนื่องมาจากการละเมิดที่ทำให้ภริยาและบุตรโจทก์ที่ 1 ถึงแก่ความตายตามความเหมาะสมแก่พฤติการณ์

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วม ร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 421,000 บาท และโจทก์ที่ 2 จำนวน 9,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 1 เป็นสามีของนางบุญมาและเป็นบิดาของนายสมเกียรติซึ่งขับรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ไปโดยมีนางบุญมาและโจทก์ที่ 2 นั่งร่วมไปด้วย จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุกซึ่งเอาประกันภัยไว้กับจำเลยร่วมไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยประมาทชนรถยนต์ที่นายสมเกียรติขับเป็นเหตุให้นางบุญมาและนายสมเกียรติถึงแก่ความตาย แล้ววินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า “ส่วนค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดู จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์ที่ 1 เป็นคนร่ำรวยมีความเป็นอยู่อย่างสุขสบายไม่เดือดร้อนจึงควรได้รับค่าขาดไร้อุปการะไม่เกิน 25,000 บาทเห็นว่า แม้โจทก์ที่ 1 จะมีความเป็นอยู่อย่างสุขสบายไม่เดือดร้อนดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาก็ตามโจทก์ที่ 1 ก็ยังมีสิทธิได้รับอุปการะจากภริยาและบุตรตามควรแก่พฤติการณ์ ได้ความว่าขณะถึงแก่กรรมนางบุญมาอายุ 44 ปี นายสมเกียรติ อายุ 17 ปี กำลังอยู่ในวัยที่เป็นกำลังประกอบอาชีพช่วยเหลือครอบครัวได้อีกเป็นเวลานานดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้รวมเป็นเงิน180,000 บาท จึงเหมาะสมแก่พฤติการณ์แล้ว”
พิพากษายืน

Share