แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้สัญญาเช่าซื้อจะระบุว่าถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใด ให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันและผู้เช่าซื้อต้อง ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อโดยพลันก็ตาม แต่ ปรากฏว่าจำเลยผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่ต้นตลอดมา โดย มิได้ชำระตรงตามกำหนดแต่ละงวด ซึ่งโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อก็ผ่อนผัน ยอมรับค่าเช่าซื้อที่ชำระไม่ตรงตามกำหนดนั้นตลอดมา แสดงว่าโจทก์ ไม่ถือเอาข้อสัญญาดังกล่าวเป็นสาระสำคัญแต่โจทก์กลับยังถือว่าสัญญาเช่าซื้อยังมีผลต่อไปจึงได้ยอมรับค่าเช่าซื้อไว้ เมื่อคู่สัญญามี เจตนาถือว่าสัญญาเช่าซื้อ ยัง มีผลต่อกัน และต่อมาก็มิได้มีการบอกเลิก สัญญาแก่กันเช่นนี้โจทก์จึง ยังไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหาย เนื่องจากจำเลยไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อที่ทำไว้กับโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินค่าเสียหายจำนวน 71,158 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า การชำระเงินค่าเช่าซื้อรถยนต์แต่ละงวดโจทก์ได้ผ่อนผันแก่จำเลยที่ 1 ตลอดมา โจทก์ยอมรับชำระโดยไม่อิดเอื้อน มิได้ผิดสัญญาโจทก์ยึดรถคืนไปมิได้ขาดประโยชน์และไม่เสียหาย หากจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์โจทก์ชอบที่จะบังคับเอาแก่จำเลยที่ 1 ก่อนเพราะจำเลยที่ 1มีทางที่จะชำระหนี้และไม่เป็นการยาก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เงินให้โจทก์เสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 8 ได้ระบุว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดยอมให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อน และข้อ 10 ระบุว่าในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดผิดสัญญาหลายครั้งหลายอย่าง ถ้าเจ้าของผ่อนผันการผิดนัดผิดสัญญาครั้งใดอย่างใด ไม่ให้ถือว่าเป็นการผ่อนผันการผิดนัดหรือผิดสัญญาครั้งอื่นอย่างอื่น ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1ผิดนัดงวดที่ 17 แล้ว สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นอันเลิกกันโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า เห็นว่า แม้สัญญาเช่าซื้อจะได้ระบุไว้ในข้อ 8 ว่าถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใด ให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันและผู้เช่าซื้อต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อโดยพลันก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติปรากฏว่า จำเลยที่ 1ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่ต้นตลอดมา โดยมิได้ชำระค่าเช่าซื้อตรงตามกำหนดแต่ละงวดโดยชำระค่าเช่าซื้อแต่ละงวดหลังจากครบกำหนดแล้ว ซึ่งโจทก์ผ่อนผันยอมรับค่าเช่าซื้อที่ชำระไม่ตรงตามกำหนดนั้นตลอดมา ดังนี้ย่อมเห็นได้ว่าคู่สัญญามิได้ถือเอาข้อตกลงในสัญญาข้อ 8 ดังกล่าวเป็นสาระสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์อ้างในคำฟ้องเป็นหลักแห่งข้อหาว่า สัญญาเช่าซื้อได้เลิกกันตั้งแต่วันที่16 กันยายน 2527 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 17 แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนได้โดยมิต้องบอกกล่าวก่อน แต่ปรากฏว่าหลังจากวันที่ 16 กันยายน 2527 โจทก์ก็ยังยินยอมรับเงินค่าเช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 อีกหลายครั้ง คือรับเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2527 วันที่ 22 มกราคม 2528 วันที่ 30มกราคม 2528 วันที่ 30 เมษายน 2528 วันที่ 30 พฤษภาคม 2528และครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2528 การที่โจทก์ยังรับค่าเช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 หลังจากวันที่ 26 กันยายน 2527 ย่อมแสดงให้เห็นว่า โจทก์ไม่ถือเอาข้อสัญญาที่ว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่ง สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันเป็นสาระสำคัญแต่โจทก์กลับยังถือว่าสัญญาเช่าซื้อยังมีผลต่อไป จึงได้ยอมรับค่าเช่าซื้อไว้ เมื่อคู่สัญญามีเจตนาถือว่าสัญญาเช่าซื้อยังมีผลต่อกันและต่อมาก็มิได้มีการบอกเลิกสัญญาแก่กันเช่นนี้ โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง
พิพากษายืน.