แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ตาม ป.อ. มาตรา 371 และความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 ความผิดทั้งสองฐานมีอายุความหนึ่งปีตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่าหนึ่งปีนับแต่วันกระทำความผิด จึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้และเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2548 เวลา 18.30 นาฬิกา จำเลยมีอาวุธปืนพกไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในบริเวณวัดเซิตสำราญ อันเป็นเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร แล้วใช้อาวุธปืนดังกล่าวตบนายบัณฑิต จานแก้ว ผู้เสียหายที่ 1 โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ และใช้ท่อนไม้ยาวประมาณ 2 ศอก ทุบตีนายสุภัทรชัย สุริยา ผู้เสียหายที่ 2 และนายอนุวัฒน์ ด้วงตัน ผู้เสียหายที่ 3 จนเป็นเหตุให้เกิดอันตราย แก่กายหรือจิตใจของผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 เหตุเกิดที่ตำบลบ้านเซิต อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ขอให้ลงโทษตามพราะราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 295, 371, 391
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 371, 391 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม เป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำคุก 4 เดือน และปรับ 2,000 บาท ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ปรับ 1,000 บาท ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี และปรับ 6,000 บาท ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดย ไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี และปรับ 6,000 บาท รวมจำคุก 2 ปี 4 เดือน และปรับ 15,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 2 เดือน และปรับ 7,500 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร จำคุก 6 เดือน ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ปรับ 2,000 บาท ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ปรับ 1,000 บาท รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 3,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 9 เดือน และปรับ 1,500 บาท ไม่รอการลงโทษจำคุก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ความผิดฐานพาอาวุธ ไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 มีระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท และความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิดทั้งสองฐาน จึงมีอายุความหนึ่งปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (5) จำเลยกระทำความผิดวันที่ 17 ตุลาคม 2548 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 10 พฤศจิกายน 2549 เกินกว่าหนึ่งปีนับแต่วันกระทำความผิด ความผิดทั้งสองฐานนี้จึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ และเป็นปัญหาข้อกฏหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า กรณีมีเหตุลงโทษจำเลยสถานเบาและรอการลงโทษหรือไม่ เห็นว่า ในความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วางโทษจำคุก 1 ปี และลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน เป็นการใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยในอัตราขั้นต่ำสุดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ไม่อาจลงโทษในสถานเบากว่านี้ได้ ส่วนความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตและความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจนั้น เป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งความผิดแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รอการลงโทษให้จำเลยนั้น เห็นว่า อาวุธปืนของกลางปราศจากกระสุนปืนที่จะพึงใช้ก่อเหตุร้าย ตามพฤติการณ์แห่งคดีจำเลยมีเจตนาเพียงเพื่อข่มขู่มิให้ผู้เสียหายมารบกวนหลานจำเลย ไม่ปรากฏชัดว่าจำเลยจะใช้อาวุธปืนนั้นก่ออาชญากรรมใด ในชั้นพิจารณาจำเลยให้การรับสารภาพ แสดงว่าจำเลยยังรู้สำนึกในการกระทำความผิด เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกและคุมความประพฤติของจำเลยไว้เพื่อให้มีเจ้าพนักงานคอยแนะนำ ช่วยเหลือ ตักเตือนหรือสอดส่องดูแล ซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมมากกว่า แต่เพื่อป้องปรามมิให้จำเลยกระทำความผิดทำนองนี้อีก เห็นสมควรวางโทษปรับจำเลยในความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ในความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ให้ปรับกระทงละ 6,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นปรับ 12,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงปรับ 6,000 บาท เมื่อรวมกับโทษปรับ 1,000 บาท ในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 แล้วเป็นปรับ 7,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงไว้มีกำหนด 3 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟังและคุมความประพฤติของจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง และให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 และมาตรา 391 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 2.