แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โครงอลูมีเนียมของโจทก์มีอักษร BOAC และรูปนกติดอยู่นั้น ติดต่อเป็นแผ่นเดียวกัน แสดงให้เห็นว่าทำคราวเดียวกันหลังจากที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างแล้วและทำโครงอลูมิเนียมดังกล่าวขึ้นเพื่อทำเป็นป้ายโฆษณาของโจทก์ เมื่อโจทก์เอาอักษร BOAC และรูปนกอันเป็นสัญญลักษณ์ของบริษัทโจทก์มาติดไว้ที่โครงอลูมิเนียมดังกล่าว แม้โจทก์จะเอาอักษร BOAC และรูปนกติดไม่เต็มโครงอลูมีเนียมโดยติดตรงส่วนบนของโครงอลูมีเนียม จึงถือว่าป้ายโฆษณาของโจทก์เป็นป้ายมีขอบเขตกำหนดได้ คือถือว่าป้ายโฆษณาของโจทก์มีขอบเขตตามโครงอลูมีเนียมดังกล่าว ในการคำนวณหาพื้นที่ของป้ายโฆษณาของโจทก์จะต้องเอาส่วนกว้างที่สุดคูณด้วยส่วนยาวที่สุดของโครงอลูมีเนียมอันเป็นขอบเขตป้ายโฆษณาของโจทก์เป็นนตารางเซนติเมตร เมื่อโจทก์เสียภาษีป้ายของโจทก์แบบป้ายไม่มีขอบเขตโดยถืออักษร BOAC และรูปนกเป็นขอบเขตกำหนดส่วนกว้างส่วนยาวที่สุดของป้ายโฆษณาของโจทก์ จึงไม่ถูกต้อง ซึ่งจำเลยที่ 2 มีอำนาจแจ้งการประเมินย้อนหลังได้ไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันที่ จำเลยที่ 2 แจ้งการประเมินตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 มาตรา 29 และ โจทก์ต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละสิบของภาษีป้ายที่ประเมินเพิ่มเติมตามมาตรา 25(2)
การเสียภาษีป้ายจะต้องเสียตามที่พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510บัญญัติไว้ โดยจะต้องเสียตามจำนวนเนื้อที่ของพื้นที่ของป้ายตามชนิดของป้ายและตามจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราภาษีป้ายท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวมิใช่เสียตามที่คณะเทศมนตรีหรือบุคคลใดกำหนด หากเจ้าของป้ายไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายหรือยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายไม่ถูกต้อง พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 มาตรา 29 ยังบัญญัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจแจ้งการประเมินย้อนหลังได้ไม่เกินห้าปี นับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมิน ไม่มีบทบัญญัติในพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 บัญญัติว่าหากเจ้าของป้ายเสียภาษีป้ายไม่ถูกต้อง ให้คณะเทศมนตรีหรือบุคคลใดมีอำนาจสั่งงดเก็บภาษีป้ายย้อนหลัง มติของคณะเทศมนตรีนครหลวงที่ให้งดเก็บภาษีป้ายโฆษณาของโจทก์ย้อนหลังจึงไม่มีผลใช้บังคับเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความจำเลยที่ 2 มีสิทธิประเมินให้โจทก์เสียภาษีป้ายของโจทก์ย้อนหลังได้ตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 มาตรา 29 และไม่เป็นการประเมินซ้ำ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ประเมินภาษีป้ายมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีสำหรับป้ายโฆษณาทางการค้าที่โจทก์แสดงไว้บนดาดฟ้าที่ทำการของบริษัท ประจำปี พ.ศ. 2511 ถึง พ.ศ. 2513 จำนวน3 ป้าย ว่าโจทก์แสดงรายการเพื่อเสียภาษีป้ายไม่ถูกต้อง ทำให้เงินที่จะต้องเสียภาษีป้ายลดลง รวมค่าภาษีป้ายที่โจทก์จะต้องเสียเพิ่ม 303,680 บาท และค่าเงินเพิ่มอีก 30,368 บาท รวมเป็นเงิน 334,048 บาท โจทก์เห็นว่า การประเมินภาษีป้ายดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ไม่ถูกต้อง จึงอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งประเมินดังกล่าว จำเลยที่ 1 วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์แล้วให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์และให้โจทก์นำเงินค่าภาษีป้ายรวมทั้งเงินเพิ่มเป็นเงิน 334,048 บาทไปชำระภายใน 7 วัน เมื่อ พ.ศ. 2515 โจทก์พิพาทกับพนักงานเจ้าหน้าที่ภาษีป้ายเกี่ยวกับการคำนวณเนื้อที่ของป้ายพิพาทมาครั้งหนึ่งแล้วว่า ป้ายพิพาทเป็นป้ายที่มีขอบเขตหรือไม่มีขอบเขต และกองกฎหมายเทศบาลนครกรุงเทพในขณะนั้นวินิจฉัยชี้ขาดว่า ตามลักษณะป้ายพิพาทต้องถือว่าเป็นป้ายที่ไม่มีขอบเขต ในที่สุดโจทก์ยอมเสียภาษีป้ายตามคำประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามคำประเมินสำหรับปี พ.ศ. 2514 โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ประเมินจะไม่เรียกเก็บภาษีป้ายพิพาทเพิ่มเติมสำหรับปี พ.ศ. 2511 – 2513 ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนปรนให้แก่กัน จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีป้ายพิพาทประจำปี พ.ศ. 2511 – 2513 อีก ความจริงป้ายพิพาทเป็นป้ายไม่มีขอบเขต การคำนวณหาพื้นที่เพื่อเสียภาษีประจำปีต้องเป็นไปตามบัญชีอัตราภาษีป้ายท้ายพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ข้อ(6) ข. ฉะนั้น ที่โจทก์ยื่นเสียภาษีป้ายประจำปี พ.ศ. 2511 – 2513 ทั้ง 3 ป้าย จึงถูกต้องแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิเรียกร้องเก็บภาษีป้ายย้อนหลัง โดยประเมินเอากับโจทก์อีกเพราะขาดอายุความแล้ว ขอให้ศาลพิพากษาว่า คำสั่งของจำเลยที่ 2 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวในฟ้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยดังกล่าวเสียและพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้ายรวมเป็นเงิน 334,048 บาท
จำเลยทั้งสองให้การร่วมกันว่า ป้ายพิพาทเป็นป้ายโฆษณาชนิดที่มีขอบเขตและจะต้องเสียภาษีป้ายตามบัญชีอัตราภาษีป้ายท้ายพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ข้อ(6) ก. พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ประเมินไม่เคยตกลงระงับข้อพิพาทกับโจทก์ โดยจะไม่เรียกเก็บภาษีป้ายพิพาทเพิ่มเติมดังที่โจทก์อ้างการประเมินของจำเลยไม่ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า จากภาพถ่ายหมาย จ.2 ปรากฏว่าโครงอลูมิเนียมของโจทก์ที่มีอักษร BOAC และรูปนกติดอยู่นั้น ติดต่อเป็นแผ่นเดียวกัน แสดงให้เห็นว่าทำคราวเดียวกันหลังจากที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างตามเอกสารหมาย ล.12แล้ว และทำโครงอลูมิเนียมดังกล่าวขึ้นเพื่อทำเป็นป้ายโฆษณาของโจทก์ เมื่อโจทก์เอาอักษร BOAC และรูปนกอันเป็นสัญญลักษณ์ของบริษัทโจทก์มาติดไว้ที่โครงอลูมิเนียมดังกล่าว แม้โจทก์จะเอาอักษร BOAC และรูปนกติดไม่เต็มโครงอลูมิเนียมโดยติดตรงส่วนบนของโครงอลูมิเนียมตามที่ปรากฏจากภาพถ่ายหมาย จ.2 และ ล.3 จึงถือว่าป้ายโฆษณาของโจทก์ เป็นป้ายมีขอบเขตกำหนดได้คือถือว่าป้ายโฆษณาของโจทก์มีขอบเขตตามโครงอลูมิเนียมดังกล่าว ในการคำนวณหาพื้นที่ของป้ายโฆษณาของโจทก์ จะต้องเอาส่วนกว้างที่สุดคูณด้วยส่วนยาวที่สุดของโครงอลูมิเนียมอันเป็นขอบเขตป้ายโฆษณาของโจทก์เป็นตารางเซนติเมตร ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ไปตรวจสอบและให้เจ้าหน้าที่วัดแล้ว ปรากฏว่าป้ายโฆษณาทั้ง 3 ป้ายของโจทก์มีขนาด 1080 X 2350 เซนติเมตร ป้ายหนึ่ง ขนาด1080 X 1600 เซนติเมตร ป้ายหนึ่ง และขนาด 1080 X 2000 เซนติเมตร ป้ายหนึ่งเมื่อโจทก์เสียภาษีป้ายของโจทก์แบบป้ายไม่มีขอบเขตโดยถืออักษร BOAC และรูปนกเป็นขอบเขตกำหนดส่วนกว้างส่วนยาวที่สุดของป้ายโฆษณาของโจทก์ว่ามีขนาด 200 X 2350 เซนติเมตร ป้ายหนึ่ง ขนาด 600 X 1600 เซนติเมตร ป้ายหนึ่งขนาด 600 X 2000 เซนติเมตร ป้ายหนึ่ง จึงไม่ถูกต้อง ซึ่งจำเลยที่ 2 มีอำนาจแจ้งการประเมินย้อนหลังได้ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 แจ้งการประเมินตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 มาตรา 29 และโจทก์ต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละสิบของภาษีป้ายที่ประเมินเพิ่มเติมตามมาตรา 25(2) ที่จำเลยที่ 2 แจ้งการประเมินภาษีป้ายให้โจทก์ เสียภาษีป้ายโฆษณาของโจทก์เพิ่มรวมทั้งเงินเพิ่มและที่จำเลยที่ 1 วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์แล้วเห็นว่า การประเมินภาษีป้ายของจำเลยที่ 2 ถูกต้องและให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเห็นว่าการเสียภาษีป้ายจะต้องเสียตามที่พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 บัญญัติไว้ โดยจะต้องเสียตามจำนวนเนื้อที่ของพื้นที่ของป้ายตามชนิดของป้าย และตามจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราภาษีป้ายท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าว มิใช่เสียตามที่คณะเทศมนตรีหรือบุคคลใดกำหนด หากเจ้าของป้ายไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายหรือยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายไม่ถูกต้อง พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 มาตรา 29 ยังบัญญัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจแจ้งการประเมินย้อนหลังได้ไม่เกินห้าปี นับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมิน ไม่มีบทบัญญัติในพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 บัญญัติว่า หากเจ้าของป้ายเสียภาษีป้ายไม่ถูกต้องให้คณะเทศมนตรีหรือบุคคลใดมีอำนาจสั่งงดเก็บภาษีป้ายย้อนหลัง มติของคณะเทศมนตรีเทศบาลนครหลวงที่ให้งดเก็บภาษีป้ายโฆษณาของโจทก์ย้อนหลังจึงไม่มีผลใช้บังคับเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยที่ 2 มีสิทธิประเมินให้โจทก์เสียภาษีป้ายโฆษณาของโจทก์ย้อนหลังได้ตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 มาตรา 29 และไม่เป็นการประเมินซ้ำ
พิพากษายืน