คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 320/2479

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนพร้อมด้วยใบอนุญาตแล้ว จำเลยได้มีอาวุธปืนกะบอกอื่นไว้อีกโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน แม้อาวุธปืนนั้นจะมีใบอนุญาตแล้ว แต่ไม่ใช่ใบอนุญาตในนามของจำเลยฯ ก็ต้องมีผิดตาม ม.11 แห่งกฎหมายข้างต้น
ความหมายของคำว่า “ควบคุม” ตามม.4(5)แห่ง พ.ร.บ.อาวุธปืน พ.ศ.2477
ประชุมใหญ่

ย่อยาว

คดีนี้จำเลยต้องหาว่ารับของโจร มีอาวุธปืนโดยมิได้รับอนุญาต แลพกอาวุธปืนแลกะสุนไปในถนนหลวง ในข้อหาฐานรับของโจรแลฐานพกอาวุธปืนในถนนหลวงได้ยุตติในชั้นศาลล่างแล้ว คงมีปัญหาขึ้นมาในขั้นฎีกาสำหรับคดีส่วนตัว อ.จำเลยในข้อหาฐานมีอาวุธปืนและกะสุนโดยมิได้รับอนุญาต
ทางพิจารณาได้ความว่าปืนและกะสุนของกลางนี้เป็นของรัฐบาลมีผู้ร้ายลักมา อ.จำเลยได้รับไว้จาก ส.เมื่อตอนประมาณ ๑๗ นาฬิกาแห่งวันที่ ๒๖ วันรุ่งขึ้นเวลา ๑๕ นาฬิกา จำเลยก็ถูกเจ้าพนักงานจับพร้อมด้วยปืนของกลางแลกะสุน ๔ นัด ปรากฎว่า อ.จำเลยได้รับอนุญาตให้มีปืน ๒ กะบอก คือของกลางนี้มีใบอนุญาต แต่เป็นปืนสำหรับใช้ในราชการ หาใช่มีใบอนุญาตในนามของ อ.จำเลยไม่
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าปืนก็มีใบอนุญาตแลตัว อ.จำเลยก็มีใบอนุญาตให้มีปืนได้ จำเลยไม่ควรมีความผิด
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยมีปืนแลกะสุนไว้เกือบครอบรอบ ๑ วัน ๑ คืนโดยไม่มีข้อแก้ตัวตามกฎหมาย เรียกว่าจำเลยได้ควบคุมปืนและกะสุนไว้ตามความหมายใน ม.๔(๕)แห่ง พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯลฯ พ.ศ.๒๔๗๗ การที่จำเลยจะได้รับอนุญาตให้มีปืนได้ ๒ กะบอกก็ไม่เป็นข้อแก้ตัวในการที่จะมีอีกโดยมิได้รับอนุญาต เห็นว่าจำเลยมีผิดฐานมีปืนโดยมิได้รับอนุญาตตาม ม.๑๑ แห่งพ.ร.บ.อาวุธปืนฯลฯ พ.ศ.๒๔๗๗ พิพากษาให้ปรับจำเลย ๑๐๐ บาทตาม ม.๕๒

Share