แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 มิได้ร่วมกันจำเลยที่ 2 วางแผนหรือรู้เห็นในการฉ้อโกงผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาหลอกลวงผู้เสียหาย การที่ผู้เสียหายขายผ้าทอมือให้จำเลยทั้งสองเกิดจากการเชื่อถือของผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดทางแพ่ง ไม่ต้องรับโทษทางอาญาเป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 5 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ป.อ. มาตรา 91 บัญญัติว่า “เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดดังต่อไปนี้ (1) สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี” มีความหมายว่าความผิดหลายกรรมนั้นไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษให้คิดจากโทษที่รวมกันทุกกระทงความผิด แต่ถ้าโทษที่เพิ่มหรือลดยังเกินกว่าที่กำหนดไว้ใน ป.อ. มาตรา 91 (1) แล้ว จะลงโทษจำคุกได้ไม่เกินกว่า 10 ปี บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้เป็นดุลพินิจของศาลที่จะลงโทษจำคุกต่ำกว่า 10 ปีได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงินจำนวน 3,405,426.50 บาท ตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายท้ายฟ้องแก่ผู้เสียหายทั้ง 22 คน
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341, 91 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป รวม 46 กระทง จำคุกจำเลยทั้งสองกระทงละ 2 ปี เป็นจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 92 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 46 ปี แต่เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (1) บัญญัติเกี่ยวกับความผิดหลายกรรมเอาไว้ว่า เมื่อรวมโทษจำคุกทุกกระทงแล้วโทษจำคุกต้องไม่เกินกำหนด 10 ปี ดังนั้น คงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 10 ปี ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงินจำนวน 3,405,426.50 บาท ตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายท้ายฟ้องแก่ผู้เสียหายทั้ง 22 คน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดรวม 21 กระทงจำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 42 ปี แต่ให้ลงโทษจำคุกเพียง 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (1) ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินจำนวน 1,809,378.50 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 8 ที่ 13 ที่ 15 ที่ 17 และที่ 19 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนลงโทษจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้ลงโทษจำคุกกระทงละไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 วางแผนหรือรู้เห็นในการฉ้อโกงผู้เสียหายทั้ง 22 คน จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาหลอกลวงผู้เสียหายที่ขายผ้าทอมือให้จำเลยที่ 1 การที่ผู้เสียหายผ้าทอมือให้จำเลยทั้งสองเกิดจากการเชื่อถือของผู้เสียหายเอง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดทางแพ่ง ไม่ต้องรับโทษทางอาญาเป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 5 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เพียงว่าบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (1) เป็นบทบัญญัติที่ให้ดุลพินิจศาลกำหนดโทษจำคุกต่ำกว่า 10 ปีได้หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 บัญญัติว่า “เมื่อปรากฏว่าผู้ใดกระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนด ดังต่อไปนี้ (1) สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี” มีความหมายว่า ความผิดหลายกรรมนั้น ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษให้คิดจากโทษที่รวมกันทุกกระทงความผิด แต่ถ้าโทษที่เพิ่มหรือลดยังเกินกว่าที่กำหนดไว้ในมาตรา 91 (1) แล้ว จะต้องลงโทษจำคุกได้ไม่เกินกว่า 10 ปี ตามที่มาตราดังกล่าวกำหนดไว้เท่านั้น บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้เป็นดุลพินิจของศาลที่จะลงโทษจำคุกต่ำกว่า 10 ปีได้ดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 10 ปี ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน