คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 656/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญารับทุนไม่มีข้อความว่าให้สิ้นความผูกพันเมื่อผู้รับทุนเรียนจบในระดับปริญญาตรี คงมีระบุว่าให้มีความผูกพันในระดับปริญญาโดยไม่ได้ระบุว่าระดับปริญญาตรี โท หรือเอก ดังนั้นเมื่อหลังจากจำเลยเรียนจบปริญญาตรีแล้วจำเลยได้ดำเนินการขอเรียนต่อในระดับปริญญาโทจนต้นสังกัดเห็นชอบ รัฐบาลออสเตรเลียเจ้าของทุนขยายทุนให้และในที่สุดจำเลยที่ 1 ได้รับทุนและเข้าเรียนจนจบ สัญญารับทุนจึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ในระดับปริญญาโทด้วย จำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมดูงานที่ประเทศอังกฤษซึ่งเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ขวนขวายขอไปเองโดยทางราชการหรือต้นสังกัดมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการปฏิบัติราชการ จะนำเอาระยะเวลาในช่วยที่จำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมดูงานที่ประเทศอังกฤษ ไปหักเพื่อลดจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1จะต้องชดใช้ตามสัญญารับทุนไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้รับทุนการศึกษาภายใต้แผนโคลัมโบไปศึกษาระดับปริญญา ตามความต้องการของสถาบันเทคโนโลยี่พระจอมเกล้าตั้งแต่ปี 2514 มีกำหนดระยะเวลา 4-5 ปี โดยจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากับโจทก์ว่าเมื่อเสร็จสิ้นการศึกษาแล้ว ยินยอมเข้ารับราชการในสถาบัน เทคโนโลยีพระจอมเกล้าหรือในหน่วยราชการอื่นใดที่โจทก์เห็นชอบเป็นเวลาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 เท่าของเวลาเต็มที่กำหนดให้ไปศึกษา มิฉะนั้นยินยอมจะชดใช้เงินให้แก่โจทก์โดยให้หักเวลาปฏิบัติราชการบางส่วนออกเหลือเท่าใดก็ให้คำนวณค่าเสียหายตามอัตราส่วนเฉลี่ยของเวลาที่จะต้องปฏิบัติราชการทั้งหมด จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 เดินทางไปศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมโยธาประเทศออสเตรเลีย ถึงวันที่ 27กุมภาพันธ์ 2519 รวม 1,703 วันจำเลยที่ 1 ก็สำเร็จการศึกษาโดยจำเลยที่ 1 ได้รับเงินทุนในระดับปริญญาตรีทั้งสิ้น 11,438.55เหรียญออสเตรเลีย เมื่อจำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีแล้วได้ขออนุมัติขยายทุนมีระยะเวลา 1 ปี เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโท โจทก์ได้อนุมัติขยายทุนให้มีระยะเวลา 18 เดือนเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2519 เพื่อศึกษาปริญญาโทสาขาวิศวกรรมการจัดการก่อสร้าง จำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2520 รวมเป็นระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ศึกษาในระดับปริญญาโท 632 วัน โดยจำเลยที่ 1ได้รับเงินทุนในระดับปริญญาโททั้งสิ้น 6,662.83 เหรียญออสเตรเลียรวมระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้รับทุนศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 2,335 วัน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 18,101.38 เหรียญออสเตรเลียซึ่งตามข้อตกลงในสัญญาจำเลยที่ 1 จะต้องปฏิบัติราชการตามที่กำหนดไว้ในสัญญาไม่น้อยกว่า4,670 วัน หลังจากจำเลยที่ 1 เดินทางกลับประเทศไทยแล้วจำเลยที่ 1 ได้เข้ารับราชการในตำแหน่งอาจารย์ระดับ 4 ขั้น2,230 บาท สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม2520 ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ยื่นเรื่องราวขอออกจากราชการและสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าได้อนุญาตให้ลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2524 ได้รวมระยะเวลาที่จำเลยที่ 1ได้ปฏิบัติราชการชดใช้แล้วทั้งสิ้น 655 วัน ยังเหลือระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 จะต้องปฏิบัติราชการชดใช้ทุนอยู่อีก 4,015 วันจำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้เงินคืนให้แก่ทางราชการเป็นเงินทั้งสิ้น31,125.08 เหรียญออสเตรเลีย จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันซึ่งจะต้องร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินคืนให้แก่โจทก์เฉพาะส่วนที่จำเลยที่ 1 ศึกษาในชั้นปริญญาตรีจำนวน 22,877.10เหรียญออสเตรเลีย ได้นำเงินจำนวน 435,398.23 บาท คิดเป็นเงินเหรียญออสเตรเลียทั้งสิ้น 21,813.54 เหรียญออสเตรเลีย ไปชำระให้แก่โจทก์ ดังนั้นจำเลยที่ 2 ยังคงต้องชำระในฐานะผู้ค้ำประกันเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,063.56 เหรียญออสเตรเลีย หรือคิดเป็นเงินไทยในขณะยื่นฟ้องเท่ากับ 19,835.58 บาท และเมื่อหักเงินที่จำเลยที่ 2 นำไปชำระต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 จึงยังคงค้างชำระเงินทุนและค่าปรับแก่โจทก์อีก 9,311.54 เหรียญออสเตรเลียหรือคิดเป็นเงินไทยในขณะยื่นฟ้องเท่ากับ 173,753.33 บาทขอให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินจำนวน 9,311.54 เหรียญออสเตรเลียหรือคิดเป็นเงินไทยในขณะยื่นฟ้องเท่ากับ 173,753.33 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 2มีนาคม 2524 จนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยที่ 2 ร่วมชดใช้เงินจำนวน 1,063.56 เหรียญออสเตรเลีย หรือคิดเป็นเงินไทยในขณะยื่นฟ้องเท่ากับ 19,835.58 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2524 จนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับทุนการศึกษาในระดับปริญญาโทด้วย ความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงมีเฉพาะในชั้นปริญญาตรีเท่านั้น จำเลยที่ 1 กลับมารับราชการชดใช้ทุนเป็นเวลาทั้งสิ้น 1,169 วัน โดยระหว่างที่จำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน 27 วันนั้น จำเลยที่ 1ไปอบรมตามคำสั่งของอธิการบดี ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่อาจขัดคำสั่งได้และมิได้ไปด้วยความประสงค์จำเลยที่ 1 เอง จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1ไปปฏิบัติราชการและต้องนำเวลาฝึกอบรมมาหักออกจากเวลาชดใช้เงินทุนจำเลยที่ 1 จะต้องปฏิบัติราชการชดใช้ทุนตามสัญญาอีกเพียง2,237 วัน อย่างไรก็ตามจำเลยที่ 2 ได้ชดใช้เงินให้โจทก์แล้วจำนวนถึง 22,891.60 เหรียญออสเตรเลีย หรือเท่ากับ 435,398.25บาท ซึ่งเกินความรับผิดของจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์มาเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 อีกไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์เรียกค่าเสียหายเกินความเป็นจริง จำเลยที่ 2 ได้นำเงินไปมอบให้แก่โจทก์เกินกว่าที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดถึง 8,072.85 เหรียญออสเตรเลียหรือเท่ากับเงินไทย 153,345.60 บาท กล่าวคือในระหว่างที่จำเลยที่ 1รับราชการชดใช้ทุนอยู่นั้นอธิการบดีมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ไปปฏิบัติราชการอบรมที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลา 1 ปี 4 เดือนกับ 27 วัน ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวนี้โจทก์ถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิบัติราชการทั้ง ๆ ที่โดยแท้จริงแล้วจำเลยที่ 1 ไปอบรมตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เมื่อเป็นเช่นนี้โจทก์จึงเรียกเงินจากจำเลยที่ 2 เกินไปจำนวนดังกล่าว รวมเงินที่ชำระเกินและดอกเบี้ยทั้งสิ้นจำนวน 188,806.77 บาท และขอให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้นจำนวน 153,345.60 บาท จากวันที่ฟ้องแย้งนี้จนกว่าโจทก์จะชำระแก่จำเลยที่ 2 เสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ได้ขอลาไปฝึกอบรมณ ประเทศอังกฤษ ด้วยทุนคอนเฟดเดอเรชั่น ออฟ บริทิช อินดัสตรี(ทุนประเภท 2) และทางราชการได้อนุมัติให้จำเลยที่ 1 ลาไปฝึกอบรมณ ประเทศอังกฤษ ด้วยทุนดังกล่าว ซึ่งไม่ถือว่าเป็นช่วงเวลาการปฏิบัติราชการชดใช้ทุนเพราะการรับราชการชดใช้ทุนหมายถึงการปฏิบัติราชการชดใช้จริง ๆ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 9,311.52เหรียญออสเตรเลีย หรือคิดเป็นเงินไทยในขณะยื่นฟ้องเท่ากับ173,753.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 2มีนาคม 2524 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในเงินดังกล่าวจำนวน 1,063.56 เหรียญออสเตรเลีย หรือคิดเป็นเงินไทยในขณะยื่นฟ้องเท่ากับ 19,835.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 2 มีนาคม 2524 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้แย้งกันฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2514 จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับทุนภายใต้แผนโคลัมเบีย ไปศึกษาที่ประเทศออสเตรเลียสาขาวิศวกรรมโยธา ในระดับปริญญาตรีมีกำหนด 4-5 ปีนับตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2514 ถึงวันที่ 29 มิถุนายน2518-19 ตามเอกสารหมาย จ.1 มีใจความสำคัญว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาจำเลยที่ 1 ต้องเข้ารับราชการเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองเท่าของเวลาที่ไปศึกษา ถ้าไม่รับราชการหรือรับราชการไม่ครบจะต้องชดใช้เงินทุนเป็นสองเท่าของเงินทุนหรือลดลงตามส่วนจากจำนวนเต็มแล้วแต่กรณีให้โจทก์ จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันตามสัญญาของจำเลยที่ 1 ครั้นต่อมาจำเลยที่ 1 เดินทางไปศึกษาที่ประเทศออสเตรเลียใช้เวลาศึกษาในระดับปริญญาตรี1,703 วัน ได้รับทุน 11,438.55 เหรียญออสเตรเลีย จากนั้นจำเลยที่ 1 เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท อีก 632 วัน ได้รับทุน6,662.83 เหรียญออสเตรเลีย รวมระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ศึกษาในระดับปริญญาตรีและโท 2,355 วัน และได้รับทุนรวม 18,101.38เหรียญออสเตรเลีย เมื่อจบการศึกษาดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 เข้ารับราชการที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม2520 จนถึงวันที่ 19 สิงหาคม 2522 รวมระยะเวลา 627 วัน จำเลยไปฝึกอบรมดูงานที่ประเทศอังกฤษด้วยทุนคอนเฟดเดอเรชั่นออฟ บริทิช อินดัสตรี (ทุนประเภท 2) ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม2522 ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2524 รวมเวลา 1 ปี 5 เดือน 12 วันจำเลยที่ 1 กลับมาทำงานในสังกัดเดิมเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์2524 จนถึงวันที่ 1 มีนาคม 2524 รวมระยะเวลา 28 วัน แล้วจำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติให้ลาออกจากราชการ ครั้นต่อมาวันที่ 10มิถุนายน 2526 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระเงินให้โจทก์เป็นเงิน 21,813.54 เหรียญออสเตรเลียคิดอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น 1 เหรียญออสเตรเลียเท่ากับ 19.96 บาท คิดเป็นเงินไทย435,398.23 บาท
ปัญหาแรกมีว่า การที่จำเลยที่ 1 เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทจำเลยที่ 1 ยังจะต้องผูกพันตามสัญญารับทุนเอกสารหมาย จ.1หรือไม่ ในข้อนี้จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนเพราะตามคำเบิกความของนายถวัลย์ พลพืชน์ พยานโจทก์เบิกความว่าทุนภายใต้แผนโคลัมโบที่ไปศึกษาในประเทศออสเตรเลียมีเฉพาะในระดับปริญญาตรี เริ่มแต่ปี 2504 และเลิกปี 2519และสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.2 ก็ระบุให้รับผิดในระดับปริญญาตรีเท่านั้นศาลฎีกาพิเคราะห์คำนายถวัลย์พยานโจทก์โดยตลอดแล้วได้ความว่านอกจากพยานจะเบิกความดังกล่าวแล้วยังได้ความอีกว่า หากผู้รับทุนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีแล้วก็ยังสามารถเรียนต่อในระดับปริญญาโทและเอกได้ จึงเห็นได้ว่าผู้รับทุนหาจำกัดให้เรียนเฉพาะระดับปริญญาตรีไม่หากผู้รับทุนมีความสามารถก็ยังเรียนในระดับปริญญาโทและเอกได้สำหรับสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.2 ที่ระบุให้มีผลผูกพันในระดับปริญญาตรีนั้นก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญาเท่านั้น หาได้เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 ไม่ โดยเฉพาะสัญญารับทุนเอกสารหมาย จ.1นั้นไม่มีข้อความว่าให้สิ้นความผูกพันเมื่อผู้รับทุนเรียนจบในระดับปริญญาตรี คงมีระบุว่าให้มีความผูกพันในระดับปริญญาโดยไม่ได้ระบุว่าระดับปริญญาตรี โท หรือเอก ดังนั้นเมื่อทางพิจารณาได้ความว่าหลังจากจำเลยที่ 1 เรียนจบปริญญาตรีแล้วจำเลยที่ 1ได้ดำเนินการขอเรียนต่อในระดับปริญญาโทจนต้นสังกัดเห็นชอบรัฐบาลออสเตรเลียเจ้าของทุนขยายทุนให้และในที่สุดจำเลยที่ 1ได้รับทุนและเข้าเรียนจนจบ ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าสัญญารับทุนตามเอกสารหมาย จ.1 มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ในระดับปริญญาโทด้วยจึงชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า การที่จำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมดูงานที่ประเทศอังกฤษถือเป็นการปฏิบัติราชการหรือไม่นั้น ในข้อนี้จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าหากไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัติราชการแล้วต้นสังกัดคงไม่ออกเป็นคำสั่งและจ่ายเงินเดือนให้นั้น ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า เมื่อปี 2522 ในระหว่างที่กลับมารับราชการใช้ทุนอยู่นั้นจำเลยที่ 1 ได้สอบชิงทุนไปดูงานในเรื่องการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ประเทศอังกฤษ เห็นว่าทางนำสืบของจำเลยที่ 1ไม่ได้ความว่าการที่จำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมดูงานที่ประเทศอังกฤษนั้นเป็นความต้องการของทางราชการหรือต้นสังกัดที่จำเลยทำงานอยู่หากแต่เป็นความต้องการของจำเลยที่ 1 เอง จำเลยที่ 1 จึงขวนขวายหาทางสมัครสอบเพื่อรับทุนไปดูงานดังกล่าว ที่มีคำสั่งให้จำเลยไปดูงานและฝึกอบรมตลอดจนได้รับเงินนั้นก็เป็นเรื่องทางราชการอนุเคราะห์ และหากถือว่าการไปนั้นเป็นการปฏิบัติราชการแล้วทางราชการคงไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ลา ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ดังกล่าวเชื่อว่าการที่จำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมดูงานที่ประเทศอังกฤษนั้นเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ขวนขวายขอไปเองโดยทางราชการหรือต้นสังกัดมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการปฏิบัติราชการ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่นำเอาระยะเวลาในช่วงที่จำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมดูงานที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลา 1 ปี5 เดือน 12 วัน ไปหักเพื่อลดจำนวนเงินที่จำเลยทั้งสองจะต้องชดใช้ตามสัญญารับทุนจึงชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share