คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1091/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำฟ้องสำนวนแรกโจทก์อ้างการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทด้วยการครอบครองปรปักษ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1382 อันเป็นการกล่าวอ้างการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยนิติเหตุ ส่วนคำฟ้องสำนวนหลังโจทก์อ้างการได้มาโดยการที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกล่าวอ้างการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยทางนิติกรรม ถึงแม้คำขอของโจทก์ทั้งสองสำนวนจะเป็นอย่างเดียวกันคือขอให้เปลี่ยนชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ก็ตาม เมื่อคำฟ้องในสำนวนคดีหลังข้ออ้างที่จะต้องวินิจฉัย ไม่ใช่อย่างเดียวกันกับข้ออ้างในคำฟ้องสำนวนแรก จึงถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่เป็นการยื่นฟ้องในเรื่องเดียวกันอันจะถือว่าเป็นการฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) จำเลยที่ 1 ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 5178 แก่โจทก์ และขายที่ดินโฉนดเลขที่ 2799 แก่จำเลยที่ 2 แต่ได้มีการโอนที่ดินในโฉนดผิดแปลงกัน การที่โจทก์กับจำเลยที่ 2 รับโอนโฉนดที่ดินสลับกันมาเป็นเพราะความเข้าใจผิด แต่โจทก์และจำเลยที่ 2 ได้ครอบครองที่ดินถูกต้องตลอดมา ศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดที่ถูกต้องได้

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลให้รวมพิจารณาพิพากษา สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณต้นปี 2521 โจทก์ตกลงจะซื้อที่ดินโฉนดเลขที่5178 จากจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 12,000 บาท ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม2521 โจทก์ได้ชำระราคาที่ดินให้จำเลยที่ 1 พร้อมกับจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากจำเลยที่ 1 หลังจากนั้นโจทก์ได้เข้าปรับพื้นที่ ปลูกสร้างบ้าน และเข้าอยู่อาศัยตลอดมา ต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2533 จำเลยที่ 2 มาแจ้งให้โจทก์รื้อบ้านออกไปจากที่ดินอ้างว่าที่ดินเป็นของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงไปตรวจสอบหลักฐานเอกสารทางทะเบียน ปรากฏว่ามีชื่อจำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยจดทะเบียนรับโอนจากจำเลยที่ 1 ส่วนที่ดินที่โจทก์จดทะเบียนรับโอนเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 2799 เนื่องจากโจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 5178 โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี โจทก์จึงได้สิทธิตามกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิในที่ดินโฉนดเลขที่ 5178 ให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในโฉนดที่ดินมาเป็นชื่อของโจทก์ หากจำเลยที่ 2 เพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 และให้โจทก์ไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในโฉนดที่ดินดังกล่าวมาเป็นชื่อของโจทก์ได้
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 2799 แต่โจทก์กลับเข้าครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 5178 ซึ่งเป็นการครอบครองที่ดินผิดแปลง โจทก์จะอ้างเอาการครอบครองปรปักษ์เพื่อเป็นประโยชน์ต่อโจทก์ไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2521 โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 5178 เป็นเงิน 12,000บาท แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 นำโฉนดที่ดินเลขที่ 2799 มาจดทะเบียนขายให้โจทก์ โดยสำคัญผิดว่าเป็นที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 5178 โจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 5178 โดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาถึงปัจจุบันเป็นเวลา 12 ปีเศษ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 2799 จำเลยที่ 1 ได้โอนขายให้จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่27 มิถุนายน 2532 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 นำโฉนดที่ดินเลขที่ 5178มาจดทะเบียนขายให้จำเลยที่ 2 โดยสำคัญผิดว่าเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 2799 หลังจากจำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้จำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 ได้เข้าครอบครองเป็นเจ้าของและทำประโยชน์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2799 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองนำที่ดินโฉนดเลขที่ 5178 ไปจดทะเบียนลงชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 5178 ให้โจทก์หากจำเลยทั้งสองเพิกเฉย ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ให้โจทก์ไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในที่ดินเลขที่ดังกล่าวมาเป็นชื่อของโจทก์ได้และโจทก์ยินยอมโอนที่ดินโฉนดเลขที่2799 ให้จำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ตกลงขายที่ดินโฉนดเลขที่ 5178 ให้โจทก์จริง ส่วนที่ดินที่จำเลยที่ 1 ขายให้จำเลยที่ 2 นั้น คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 2799 แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1นำโฉนดที่ดินมาจดทะเบียนสับกันไป
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้อนและหรือฟ้องซ้ำ เพราะโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลจังหวัดชัยนาทแล้วตามคดีหมายเลขดำที่ 883/2533 ซึ่งโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในคดีนี้เป็นคนคนเดียวกัน มีประเด็นอย่างเดียวกัน ทรัพย์สินรายเดียวกันและคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ศาลไม่ควรรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 2799 แต่โจทก์กลับครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 5178 เพราะเป็นที่ดินมีราคาแพงกว่า เป็นการใช้สิทธิที่จะฉ้อโกงและฉ้อฉลต่อจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 5178 มาเป็นการรับโอนมาโดยเสียค่าตอบแทนและเป็นการซื้อขายที่ถูกต้องตามกฎหมาย การที่โจทก์จะให้จำเลยที่ 2 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 5178 ให้โจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 5178 ให้โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ไปจัดการจดทะเบียนโอน ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 5178 ให้โจทก์ และให้โจทก์ไปจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2799 ให้จำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2ในสำนวนหลัง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิซึ่งมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามข้ออ้างในคำฟ้องของโจทก์สำนวนคดีแรกนั้นโจทก์อ้างการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทด้วยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 อันเป็นการกล่าวอ้างการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยนิติเหตุ ส่วนข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์ในสำนวนคดีหลังนั้น เป็นการกล่าวอ้างการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1ในสำนวนคดีหลัง จึงเป็นการกล่าวอ้างการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยทางนิติกรรม ถึงแม้คำขอของโจทก์ทั้งสองสำนวนจะมีคำขอเป็นอย่างเดียวกันคือขอให้เปลี่ยนชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ก็ตาม เมื่อคำฟ้องในสำนวนคดีหลังข้ออ้างที่จะต้องวินิจฉัยไม่ใช่อย่างเดียวกันกับข้ออ้างในคำฟ้องสำนวนแรกเช่นนี้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่เป็นการยื่นฟ้องในเรื่องเกี่ยวกันอันจะถือว่าเป็นการฟ้องซ้อนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีสำนวนหลังเป็นการฟ้องซ้อนกับสำนวนคดีแรกนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในส่วนนี้ และเมื่อสำนวนคดีหลังไม่เป็นการฟ้องซ้อนกับสำนวนคดีแรกแล้ว สำนวนคดีหลังพิจารณาได้ความอย่างไรก็พิจารณาไปตามที่พิจารณาได้ความได้ ข้อเท็จจริงตามสำนวนคดีหลังนั้นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 5178 และจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ตกลงซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 2799 แต่ได้มีการโอนที่ดินลงในโฉนดผิดแปลงกัน การที่โจทก์กับจำเลยที่ 2 รับโอนโฉนดที่ดินสลับกันมาเป็นเพราะความเข้าใจผิด แต่โจทก์ได้ครอบครองที่ดินที่ถูกต้องตลอดมา ดังนี้ที่ศาลชั้นต้นพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความในสำนวนคดีหลังนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน แต่ให้ตัดข้อความในคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ในสำนวนหลังออก

Share