คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5413/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ที่มีต่อโจทก์ตามสัญญาเช่าแบบลิสซิ่งโดยตกลงสละสิทธิของจำเลยอันมีอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 694 จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความเกี่ยวกับความรับผิดตามสัญญาเช่าแบบลิสซิ่งของห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ตามมาตรา 563 และมาตรา 1272 ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2539 ห้างหุ้นส่วนจำกัด วี แอนด์ เอส สยาม ทรานสปอร์ต เช่าแบบลิสซิ่งรถยนต์บรรทุกสิบล้อ ยี่ห้อมิตซูบิชิ จากโจทก์ 5 คัน ราคาคันละ 1,570,912.20 บาท ตกลงชำระค่าเช่า 36 เดือน เดือนละ 43,636.45 บาท ต่อหนึ่งคัน ชำระค่าเช่างวดแรกวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2539 งวดต่อไปทุกวันที่ 2 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ มีข้อตกลงด้วยว่าเมื่อชำระค่าเช่าครบแล้ว ผู้เช่ามีสิทธิซื้อรถยนต์ที่เช่าจากโจทก์ในราคาคันละ 208,879 บาท ในวันเดียวกันนี้จำเลยทั้งสองทำหนังสือยินยอมชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ว่า หากโจทก์ได้รับความเสียหายจากสัญญาเช่าแบบลิสซิ่งดังกล่าว จำเลยทั้งสองย่อมรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมามีการชำระค่าเช่าเพียง 15 งวด แล้วผิดนัดไม่ชำระตั้งแต่งวดที่ 16 ซึ่งจะต้องชำระวันที่ 2 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นมา โจทก์บอกเลิกสัญญาและยึดรถยนต์บรรทุกสิบล้อดังกล่าวทั้งห้าคันคืนและได้นำออกประมูลขายได้เงินรวม 2,410,000 บาท ทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงิน 2,410,431.05 บาท โจทก์ทดรองจ่ายค่าเบี้ยประกรันภัยรถยนต์เป็นเงิน 24,580 บาท เสียค่าใช้จ่ายในการประมูลขายรถยนต์ 48,200 บาท รวมเป็นค่าเสียหาย 2,480,207.05 บาท เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2540 ห้างหุ้นส่วนจำกัด วี แอนด์ เอส สยาม ทรานสปอร์ต จดทะเบียนเลิกห้างและชำระบัญชีแล้ว โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ดังกล่าวในฐานะผู้ค้ำประกัน แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า ฟ้องขาดอายุความเนื่องจากไม่ฟ้องภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด วี แอนด์ เอส สยาม ทรานสปอร์ต ผู้ทำสัญญาเช่าตามฟ้องกับโจทก์จดทะเบียนเลิกห้าง และไม่ฟ้องภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ส่งมอบรถยนต์บรรทุกสิบล้อทั้งห้าคันตามฟ้องคืน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 1,324,580 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 11 มิถุนายน 2542) จนกว่าจะชำระเสร็จ และร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้คำนวณตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด วี แอนด์ เอส สยาม ทรานสปอร์ต เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2539 ห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวทำสัญญาเช่าแบบลิสซิ่งรถยนต์บรรทุกสิบล้อจากโจทก์ 5 คัน ราคาคันละ 1,570,912.20 บาท ตกลงชำระค่าเช่า 36 เดือน เดือนละ 43,636.45 บาท ต่อหนึ่งคัน ชำระค่าเช่างวดแรกวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2539 งวดต่อไปทุกวันที่ 2 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบตามสัญญาเช่าแบบลิสซิ่ง เอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.7 โดยมีข้อตกลงว่าเมื่อชำระค่าเช่าครบกำหนดแล้วผู้เช่ามีสิทธิซื้อรถยนต์ที่เช่าจากโจทก์ในราคาคันละ 208,879 บาท ตามสัญญาให้สิทธิซื้อสินค้าเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.12 วันเดียวกันนี้จำเลยทั้งสองทำหนังสือยินยอมชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์หากโจทก์ได้รับความเสียหายตามเอกสารหมาย จ.13 ถึง จ.22 หลังจากทำสัญญาได้มีการชำระค่าเช่าแก่โจทก์เพียง 15 งวด แล้วผิดนัดชำระค่าเช่าตั้งแต่งวดที่ 16 ประจำวันที่ 2 พฤษภาคม 2540 โจทก์ยึดรถยนต์บรรทุกสิบล้อคืนทั้งห้าคันแล้วนำออกประมูลขาย สำหรับห้างหุ้นส่วนจำกัด วี แอนด์ เอส สยาม ทรานสปอร์ต ได้เลิกห้างแล้ว โดยนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนเลิกห้างเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2540 และรับจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2540 ตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดนครปฐม เอกสารหมาย จ.28 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2542
คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า จำเลยทั้งสองยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ได้หรือไม่ ซึ่งจำเลยทั้งสองฎีกาว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด วี แอนด์ เอส สยาม ทรานสปอร์ต ได้ทำสัญญาเช่ารถยนต์ไปจากโจทก์จำนวน 5 คัน โดยมีจำเลยทั้งสองเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมต่อโจทก์ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 694 ได้บัญญัติไว้ว่า นอกจากข้อต่อสู้ซึ่งผู้ค้ำประกันมีต่อเจ้าหนี้นั้น ผู้ค้ำประกันยังอาจยกข้อต่อสู้ทั้งหลายซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ด้วย ฉะนั้น แม้ในสัญญาข้อ 5 ของหนังสือยินยอมชดใช้ค่าเสียหายเอกสารหมาย จ.13 ถึง จ.22 ได้ระบุว่า จำเลยทั้งสองขอสละสิทธิของจำเลยทั้งสองอันมีอยู่ตามมาตรา 694 และมาตรา 698 ก็หาทำให้จำเลยทั้งสองผู้ค้ำประกันเปลี่ยนฐานะเป็นลูกหนี้ชั้นต้นและหมดสิทธิที่จะยกข้อต่อสู้ซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัด วี แอนด์ เอส สยาม ทรานสปอร์ต ผู้เป็นลูกหนี้ที่มีต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาเช่าลิสซิ่งขึ้นต่อสู้โจทก์ตามมาตรา 694 ไม่ จำเลยทั้งสองในฐานะผู้ค้ำประกันของห้างหุ้นส่วนจำกัด วี แอนด์ เอส สยาม ทรานสปอร์ต ชอบที่จะยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 และมาตรา 1272 ของห้างหุ้นส่วนจำกัด วี แอนด์ เอส สยาม ทรานสปอร์ต ขึ้นอ้างได้ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้รับมอบรถยนต์พิพาทไปเมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2541 และได้มีการจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด วี แอนด์ เอส สยาม ทรานสปอร์ต และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2540 และวันที่ 9 มิถุนายน 2540 ตามลำดับ แต่โจทก์เพิ่งนำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2542 จึงเกินกำหนดระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ได้รับมอบรถยนต์พิพาท และเกินกำหนดระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัด วี แอนด์ เอส สยาม ทรานสปอร์ต ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยทั้งสองจึงขาดอายุความตามกฎหมายแล้ว เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 694 บัญญัติว่า “นอกจากข้อต่อสู้ซึ่งผู้ค้ำประกันมีต่อเจ้าหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันยังอาจยกข้อต่อสู้ทั้งหลายซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ด้วย” เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ค้ำประกันได้สละสิทธิของจำเลยทั้งสองอันมีอยู่ตามบทบัญญัติมาตรา 694 แล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจยกอายุความเกี่ยวกับความรับผิดตามสัญญาเช่าแบบลิสซิ่งของห้างหุ้นส่วนจำกัด วี แอนด์ เอส สยาม ทรานสปอร์ต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 และมาตรา 1272 ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกาแทนโจทก์ 5,000 บาท.

Share