คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6522/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันสองฉบับ เพื่อค้ำประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 มีต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ร. เจ้าหนี้เดิม เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2540 และ 19 กุมภาพันธ์ 2540 ตามลำดับ ในขณะที่จำเลยที่ 3 อายุยังไม่ครบยี่สิบปีบริบูรณ์ จึงยังไม่บรรลุนิติภาวะตาม ป.พ.พ. มาตรา 19 เพราะจำเลยที่ 3 เกิดวันที่ 11 มีนาคม 2520 การทำสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นการประกันโดยประการใด ๆ อันอาจมีผลให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ต้องถูกบังคับชำระหนี้หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ผู้เยาว์ต้องรับเป็นผู้รับชำระหนี้ของบุคคลอื่น (จำเลยที่ 1) หรือแทนบุคคลอื่น (จำเลยที่ 1) จึงเป็นการทำนิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ ซึ่งตามมาตรา 1574 (10) แห่ง ป.พ.พ. ได้บัญญัติว่า ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต เมื่อโจทก์ไม่ได้แสดงพยานหลักฐานให้เห็นว่าในขณะที่จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกัน ผู้ใช้อำนาจปกครองของจำเลยที่ 3 ได้รับอนุญาตจากศาลให้จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันได้ การทำสัญญาค้ำประกัน จึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าว ตกเป็นโมฆะและไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งหกเด็ดขาด และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 4 เนื่องจากจำเลยทั้งสองถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วในคดีหมายเลขแดงที่ 23807/2552 และคดีหมายเลขแดงที่ 23874/2552 ตามลำดับ
จำเลยที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 ไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง หนี้ของโจทก์ไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน และมิได้เป็นบุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ประการแรกว่า โจทก์มีสิทธินำมูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกันสองฉบับ มาฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีนี้หรือไม่ ที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า ขณะทำสัญญาค้ำประกันดังกล่าว จำเลยที่ 3 ยังไม่บรรลุนิติภาวะและเป็นการลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวตามคำบอกของบิดานั้น เห็นว่า จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันสองฉบับตามสัญญาค้ำประกัน แผ่นที่ 2 และที่ 7 เพื่อค้ำประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 มีต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจ จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้เดิม เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2540 และ 19 กุมภาพันธ์ 2540 ตามลำดับ ในขณะที่จำเลยที่ 3 อายุยังไม่ครบยี่สิบปีบริบูรณ์ จึงยังไม่บรรลุนิติภาวะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 19 เพราะจำเลยที่ 3 เกิดวันที่ 11 มีนาคม 2520 ตามสำเนาแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร การทำสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นการประกันโดยประการใด ๆ อันอาจมีผลให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ต้องถูกบังคับชำระหนี้หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ผู้เยาว์ต้องรับเป็นผู้รับชำระหนี้ของบุคคลอื่น (จำเลยที่ 1) หรือแทนบุคคลอื่น (จำเลยที่ 1) จึงเป็นการทำนิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ ซึ่งตามมาตรา 1574 (10) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติว่า ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต เมื่อโจทก์ไม่ได้แสดงพยานหลักฐานให้เห็นว่าในขณะที่จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันดังกล่าวตาม แผ่นที่ 2 และแผ่นที่ 7 ผู้ใช้อำนาจปกครองของจำเลยที่ 3 ได้รับอนุญาตจากศาลให้จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันดังกล่าวได้ การทำสัญญาค้ำประกันดังกล่าว จึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าว ตกเป็นโมฆะและไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 3 ดังนั้น จำเลยที่ 3 จึงไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว ที่ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเนื่องจากจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจริง ในสัญญาค้ำประกันมีข้อตกลงว่า “การค้ำประกันนี้ย่อมผูกพันผู้ค้ำประกันอย่างสมบูรณ์ ถึงแม้หากจะปรากฏในภายหลังว่าลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาก่อหนี้เพราะเหตุทำด้วยสำคัญผิดหรือเพราะเหตุเป็นคนไร้ความสามารถก็ตาม” แม้นิติกรรมนั้นจะไม่สมบูรณ์ แต่ไม่ปรากฏว่ามีผู้มีส่วนได้เสียบอกล้างนิติกรรมดังกล่าว และบิดาของจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมตามความเป็นจริงก็รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกัน แม้ว่าจำเลยที่ 3 จะยังไม่บรรลุนิติภาวะก็ตามนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 เด็ดขาด ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ในข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลล้มละลายกลาง

Share